ภาษาอังกฤษที่ชาวต่างชาติใช้เรียกพระพุทธเจ้าคือคำว่า Buddha เป็นภาษาต่างประเทศที่ปกติแล้วคงไม่มีใครนำเอามาใช้ตั้งเป็นชื่อจริง ดังนั้นชื่อของหลวงปู่บุดดาจึงนับว่าเป็นเรื่องบังเอิญเป็นอย่างมาก แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มีชื่อนี้อยู่แล้ว และท่านก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงได้บวชเรียนก่อนจะกลายมาเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แถมยังอยู่มาถึง 6 แผ่นดินเลยทีเดียว แม้ว่าในปัจจุบันท่านจะจากโลกใบนี้ไปร่วม 30 ปีแล้ว แต่ผู้คนก็ยังคงเคารพนับถือท่านไม่ต่างจากเดิม วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับท่านให้มากขึ้น ท่านเป็นใคร มาจากไหน ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เปิดประวัติของหลวงปู่บุดดา พระอาจารย์ชื่อดังจากจังหวัดลพบุรี
หลวงปู่บุดดา ถาวโร เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเดิมว่า บุดดา มงคลทอง เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2437 ที่หมู่บ้านหนองเกวียนหัก ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 7 คนด้วยกัน
ตอนที่ยังเป็นเด็กท่านเกิดนิมิตระลึกความย้อนอดีตได้ว่า บิดาในชาตินี้ ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นพี่ชายของตนเองมาก่อน หลังจากที่มีอายุได้ 21 ปีก็ถูกเกณฑ์ทหารเข้าไปอยู่ในสังกัดกองทัพบก ตรงกับช่วงยุคสมัยของรัชกาลที่ 6 รับราชการอยู่ 2 ปี
ระหว่างนั้นมีผู้หญิงมาชอบหลวงปู่บุดดามากมาย เนื่องจากเป็นหนุ่มรูปงาม บางคนเข้ามาพูดจาหวังสร้างความสนิทสนม ท่านที่ไม่ได้สนใจจึงตอบกลับไปว่าไปเถอะ ฉันเป็นทหารตัวเมีย ไม่ได้ชอบผู้หญิง ถ้าไปเจอทหารตัวผู้คนอื่นจะลำบาก
หลังจากนั้นในปี 2460 สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้อุบัติขึ้น ทางการก็ได้เปิดรับสมัครให้ทหารอาสาได้เข้าไปร่วมรบในทวีปยุโรป ท่านเองก็ไปสมัครเช่นเดียวกัน แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากกินเหล้าไม่เป็น
ด้วยเหตุผลที่ว่าในยุโรปอากาศหนาวมาก ดังนั้นทหารจึงจำเป็นที่จะต้องดื่มเหล้าเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นหลวงปู่บุดดาจึงไม่ได้เข้าร่วมสงครามในครั้งนี้แต่อย่างใด
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลังจากที่หลวงปู่บุดดารับใช้ชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาอยู่เป็นเวลาถึง 4 ปีเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ท่านต้องการมากที่สุดก็คือ การได้บวชเรียนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เนื่องจากรู้สึกเบื่อและเหนื่อยหน่ายกับทางโลกมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก
ดังนั้นหลังจากที่ได้รับโอกาสจึงได้ไปขออนุญาตพ่อแม่เพื่อบวชตอนที่อายุครบ 28 ปี ท่านได้อุปสมบทที่วัดเนินยาว โดยมีหม่อมราชวงศ์เอี่ยม อิศรางกูรหรือพระครูธรรมขันธ์สุนทรในช่วงนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่อุปสมบทแล้วก็ได้รับฉายาว่าถาวโร
พระสงฆ์ที่เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้มีอีกถึง 25 รูป และล้วนแล้วแต่เป็นพระอุปัชฌาย์ทุกรูป ดังนั้นหลวงปู่บุดดาจึงได้รับการสั่งสอนเกี่ยวกับปัญจกกรรมฐานตั้งแต่ในวันอุโบสถจนเห็นแจ้ง
หลังจากที่บวชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่บุดดาก็ได้ออกตามหาสถานที่วิเวกเพื่อทำการเจริญสมณธรรมตามลำพัง ท่านมุ่งเน้นการปฏิบัติกรรมฐานโดยพิจารณากายจากภายในอยู่เป็นประจำ ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรมและทำกิจของสงฆ์อย่างครบถ้วนถูกต้อง
มีความเพียรพยายามแม้ว่าบางครั้งจะไม่สามารถละกิเลสราคะได้ แต่ก็หากลอุบายเพื่อพยายามดับมันจนสำเร็จ หลังออกธุดงค์มาจนถึงพรรษาที่ 4 ท่านก็ได้ออกเดินทางไปยังเทือกเขาภูพานก่อนพบกับพระธุดงค์ที่มีชื่อว่าพระสงฆ์ พรหมสโร เป็นพระที่มีอายุมากกว่า 10 ปีและพรรษาแก่กว่า 1 ปี
เมื่อพบเห็นเข้าก็ระลึกชาติได้ทันทีว่า พระสงฆ์ผู้นี้ในอดีตชาติเคยเป็นบิดาของตนเอง นับตั้งแต่นั้นหลวงปู่บุดดาจึงได้เรียกท่านว่าคุณพ่อสงฆ์
จากนั้นพวกท่านทั้งสองก็ได้ออกเดินทางธุดงค์ร่วมกัน จากภาคอีสานมาจนถึงบริเวณภาคกลาง ผ่านตำบลตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้พบกับชัยภูมิใหม่อย่างถ้ำภูคา บรรยากาศมีความเงียบสงบและร่มเย็น เหมาะสำหรับการเจริญกรรมฐานเป็นอย่างมาก
ท่านจึงได้ไปจำพรรษาอยู่ในวัดป่าหนองคู เมื่อออกพรรษาเรียบร้อยแล้วก็ได้เดินทางกลับมายังถ้ำดังกล่าว ใช้เวลาไม่นานพระสงฆ์ทั้ง 2 รูปก็ได้บำเพ็ญเพียรจนเห็นถึงอริยสัจธรรมได้สำเร็จ
หลวงปู่บุดดาอาจจะไม่ใช่พระสงฆ์ที่มีวัตถุมงคลออกมามากมายให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เช่าไปบูชา ไม่ได้เป็นผู้นำกิจกรรมทางศาสนาจนมีชื่อเสียง แต่การที่ผู้คนรู้จักและเคารพนับถือท่าน เกิดจากการที่ท่านนั้นดำรงตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างแท้จริง ผู้คนจึงเกิดความศรัทธาขึ้นมาด้วยตนเอง
ช่วงเวลาบรรลุธรรม
หลวงปู่บุดดาได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ท่านบรรลุธรรมเอาไว้ว่า คืนนั้นท่านกำลังคุยกับคุณพ่อสงฆ์ นั่งคุยกันแบบลืมตาตามปกติทั่วไป ในขณะที่คุยกันอย่างออกรสออกชาติ แต่อยู่ดี ๆ ท่านก็เงียบเสียงลง นั่งลืมตาค้างไว้เฉย ๆ คุณพ่อสงฆ์ก็ได้นั่งเฝ้าอยู่ไม่ห่างและไม่ได้ทำอะไร
แม้ว่าปกติท่านจะขี้สงสัยและไม่ยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ ก็ตาม แต่ท่านก็เลือกที่จะเก็บความแปลกใจเอาไว้สักพัก จนเมื่อทนไม่ไหวก็ได้ถามออกไปว่าเป็นอะไร แต่ถึงอย่างนั้นหลวงปู่ก็ไม่ได้ให้คำตอบ ยังคงนั่งนิ่งดวงตาเบิกโพลง เท่ากับว่าหลวงปู่บุดดาได้จบกิจศาสนาแล้วและอาสวะก็สิ้นลงต่อหน้าพระสงฆ์ พรหมสโร ในช่วงเวลานั้น
เวลาล่วงเลยผ่านไป 3 วัน พระทั้ง 2 รูปก็ได้ออกไปบิณฑบาต แต่ก่อนหน้านั้นคุณพ่อสงฆ์ก็ได้หันมาบอกกับหลวงปู่บุดดาว่า ไม่มีคนไปนรก ไม่มีคนไปสวรรค์ หลวงปู่ก็ได้เสริมว่า มันจะมีนรก มีสวรรค์ยังไง นั่นมันกิเลส กิเลสหมด ก็หมดนรก หมดสวรรค์ จึงได้รู้ว่าพระสงฆ์ พรหมสโร ก็ได้บรรลุธรรมไปเมื่อคืนก่อนเช่นเดียวกัน
เครื่องรางของขลังของหลวงปู่บุดดา
หลวงปู่บุดดาอาจไม่ใช่พระที่มีเครื่องรางของขลังมากมายที่ได้รับความนิยม แต่ก็ยังคงมีให้ลูกศิษย์ลูกหาหรือคนที่เคารพศรัทธาได้บูชามาเก็บไว้เช่นเดียวกัน พระเครื่องของท่านส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญ ผ้ายันต์ ธนบัตรขวัญถุง พระกริ่งเนื้อผง พระสมเด็จ
เครื่องรางของขลังแต่ละอย่างของหลวงปู่บุดดานั้น จะมีพุทธคุณที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น เงินขวัญถุงก็ช่วยเรียกเงินเรียกทอง ทำมาค้าขายร่ำรวย ผ้ายันต์ก็ช่วยเรื่องป้องกันอันตราย ส่วนเหรียญหรือพระกริ่งทั้งหลายก็ช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่บูชา เพิ่มความโชคดี เป็นที่รักต่อผู้พบเห็น
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com