พาเยี่ยมชมวัดราชบพิธ สัมผัสความวิจิตรตระการตาของวัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาล 7

by saimu
0 comment
วัดราชบพิธ

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าแต่ละรัชกาลล้วนแล้วแต่มีวัดประจำรัชกาลของตนเอง และสำหรับรัชกาลที่ 5 วัดประจำรัชกาลคือ วัดราชบพิธ นั่นเอง เชื่อว่าทุกคนต้องคุ้นหูกับชื่อวัดแห่งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมาพร้อมความสวยงามวิจิตรตระการตา สมกับเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 ในกรุงรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้จะมีความน่าสนใจอย่างไร เราจะพาทุกคนไปเที่ยวชมทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้ให้มากขึ้น ไปติดตามกันได้เลย 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

เปิดประวัติความเป็นมาของวัดราชบพิธ วัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

วัดราชบพิธ

หลายคนอาจเรียกชื่อ วัดราชบพิธ เป็นชื่อสั่น ๆ จนติดปาก โดยไม่ทราบว่าชื่อเต็ม ๆ คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิด ราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเป็นที่พำนักของสมเด็จพระสังฆราชจำนวนกว่า 3 พระองค์ รวมถึง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน 

วัดราชบพิธยังเป็นวัดที่มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะขอมโบราณและศิลปะตะวันตกอย่างลงตัว นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีสุสานหลวงเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 9 ด้วยเช่นเดียวกัน

วัดราชบพิธ

ประวัติความเป็นมาของวัดราชบพิธนั้น ถูกก่อสร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 5 นั่นเอง ท่านทรงโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาทศุภกิจ, เจ้าพระยาธรรมาธิกรนาธิบดี หรือหม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล เป็นแม่กองอำนวยการในการก่อสร้างวัด 

การก่อสร้างวัดราชบพิธเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในปี 2412 ในช่วงแรกมีการซื้อพระราชวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทร์ทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร รวมถึงเจ้าจอมมารดาคล้าย และมีการซื้อบ้านเรือนของชาวบ้านรวมทั้งข้าราชการมากมายเพื่อก่อสร้างวัดแห่งนี้

โดยใช้พระราชทรัพย์ไปเป็นจำนวนกว่า 2,806 บาท กับอีก 37 สตางค์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนน้อยนิดในปัจจุบัน แต่ถ้าหากเป็นค่าเงินในยุคนั้นก็ถือว่าสูงมากเลยทีเดียว มีการนิมนต์พระสงฆ์ที่จำวัดอยู่ในวัดโสมนัสราชวรมหาวิหารให้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ และยังมีการอัญเชิญพระนิรันตรายมาประดิษฐานด้วย 

สาเหตุที่รัชกาลที่ 5 สร้างวัดราชบพิธขึ้นมาก็เพื่อให้การสร้างวัดเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ที่พระมหากษัตริย์ทุกคนจะต้องสร้างวัดขึ้นมา และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาของพระองค์อีกด้วย 

พระพุทธอังคีรส พระประธานในวัดราชบพิธที่มีประวัติความเป็นมามากมาย 

วัดราชบพิธ

พระประธานของวัดราชบพิธคือ พระพุทธอังคีรส ถูกประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถบนฐานชุกชีที่ถูกทำมาจากหินอ่อนนำเข้าจากประเทศอิตาลี พระนามของพระประธานในวัดราชบพิธองค์นี้มีความหมายถึง รัศมีที่แผ่ออกมาจากร่างกาย 

ถูกหล่อขึ้นมาในช่วงรัชกาลที่ 4 จนถึงช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 ใช้ทองคำน้ำหนักกว่า 180 บาทเลยทีเดียว เป็นทองคำที่ในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยใช้เป็นเครื่องทรง เดิมทีจะมีการนำเอาไปประดิษฐานในพระปฐมเจดีย์ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

แต่เพราะสิ้นรัชกาลเสียก่อน รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้น้ำเอาพระพุทธอังคีรสมาประดิษฐานในอุโบสถของวัดราชบพิธแทน และเนื่องจากสร้างมาจากทองคำแท้ ดังนั้นจึงมีลักษณะที่สวยงามเป็นพิเศษและเนื้อเป็นสีทองอร่าม ดูแตกต่างจากพระประธานธรรมดาทั่วไป 

สุสานหลวง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวัดราชบพิธ 

วัดราชบพิธ

วัดราชบพิธถือเป็นสถานที่สำคัญ เพราะเป็นสุสานหลวงเพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้นในกรุงเทพฯ โดยสุสานจะตั้งอยู่บริเวณนอกเขตกำแพงมหาสีมาของวัดทางด้านทิศตะวันตก อยู่ไม่ไกลจากคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิรวมถึงพระสรีรางคารของราชวงศ์

งานสถาปัตยกรรมทั้งพระปรางค์ พระเจดีย์ และพระวิหาร เป็นการผสมผสานงานศิลปะระหว่างไทย ขอม และยุโรปโกธิค ในบริเวณนั้นจะเป็นสวนที่ปลูกต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ไว้อย่างสวยงาม มีอนุสาวรีย์เจดีย์ทอง 4 องค์ ที่มีความสำคัญตั้งเรียงรายอยู่จากทางเหนือไปทางใต้ สถานที่บรรจุสรีรางคารของเจ้านายแต่ละองค์ล้วนแล้วแต่เป็นโบราณสถานในวัดราชบพิธที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าใคร ซึ่งประกอบไปด้วย 

  1. สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ 
  2. รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า และพระราชนัดดา
  3. เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชนัดดา 
  4. สุขุมาลนฤมิตร บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จพระปิตุจาเจ้า สุขุมาลศรี พระอัครราชเทวี และพระนัดดา
  5. อนุสาวรีย์ปรางค์สามยอด บรรจุพระสรีรางคารของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรดา และพระประยูรญาติ 
  6. อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี บรรจุทัศรีรางของเจ้าดารารัศมี และพระราชธิดา 
  7. อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ บรรจุสรีรางคารของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และพระธิดา รวมถึงเจ้าจอมมารดาโหมด พระโอรสและพระราชธิดา สมาชิกสายราชสกุลสุริยงและอาภากร 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment