ขั้นตอนหนึ่งของการจัดการกับร่างของผู้ล่วงลับในประเทศไทยก็คือ การมัดตราสัง ประเพณีกรรมโบราณที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา พิธีกรรมนี้อาจดูน่ากลัวสำหรับหลาย ๆ คน แต่มันก็ยังคงเป็นพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า พิธีกรรมนี้แนวทางปฏิบัติอย่างไรและยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพิธีกรรมนี้กัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
พิธีมัดตราสัง ก้าวสู่อีกภพ ส่งวิญญาณสู่สวรรค์ ผ่านด้ายสายสิญจน์
มัดตราสัง เป็นหนึ่งในขั้นตอนพิธีกรรมที่เราทำหลังจากมีผู้ล่วงลับจากโลกใบนี้ไป หากย้อนกลับไปในอดีต หลังจากร่างของผู้เสียชีวิตถูกแต่งตัวให้เรียบร้อย มือทั้งสองข้างจะถูกจับให้อยู่ในท่าประนมมือ บ้างก็มีดอกไม้ธูปเทียน บ้างก็ไม่มี แล้วแต่ฐานะครอบครัวของผู้เสียชีวิต
จากนั้นจะนำเอาด้ายดิบหรือด้ายที่ไม่ผ่านกระบวนการฟอกสีมาทำเป็นบ่วงคล้องคอ จากนั้นนำเอาปลายด้ายด้านหนึ่งมัดรวบบริเวณหัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้าง จากนั้นจึงนำเอาด้ายที่เหลือมามัดรวบทั้ง 4 นิ้วให้อยู่ในท่ากำลังประนมมือ ลักษณะดังกล่าวมีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า การมัดดอยใน ขั้นตอนการทำพิธีมีดังนี้
- สัปเหร่อจะนำเอาบ่วงคล้องคอแล้วท่องคาถาปุตโต คีว มีความหมายถึงลูกที่เปรียบเสมือนกับห่วงคล้องคอ ถือเป็นห่วงที่ 1
- จากนั้นก็จะโยงสายได้มาบริเวณกลางลำตัว นำเอาไปผูกนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างและใส่ดอกไม้ธูปเทียนไว้ในมือ เสร็จแล้วก็จะรวบมือที่ผูกด้ายไว้บริเวณกลางหน้าอกแล้วท่องคาถาธน หตุเถ ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเงินทอง ถือเป็นห่วงที่ 2
- จากนั้นจะนำเอาด้ายที่โยงมาจากปลายเท้าทำเป็นบ่วงผูกนิ้วหัวแม่เท้าและข้อเท้าให้ติดกัน จากนั้นท่องคาถาภริยา ปาเท หมายถึง ภรรยา ถือเป็นห่วงที่ 3 ก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
การมัดตราสังในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการจัดท่าทางร่างของผู้ล่วงลับให้อยู่ในลักษณะที่สวยงาม ไม่อุจาดตา ดูมีกิริยาเรียบร้อย สงบเสงี่ยม แต่ในฝั่งพุทธศาสนา มันถูกสอดแทรกด้วยปริศนาธรรมผ่านบ่วงของด้าย 3 บ่วงที่ผูกเอาไว้กับร่างของผู้เสียชีวิต
ทั้ง 3 บ่วงที่ประกอบไปด้วย ลูก ทรัพย์สิน ภรรยา ถือเป็นสิ่งที่ผูกมัดให้ดวงวิญญาณ ยังคงเวียนว่ายตายเกิดตามวัฏสงสาร หากใครอยากหลุดพ้นก็ต้องหาทางละทั้ง 3 บ่วงให้สำเร็จ
หลังจากที่ทำการมัดตราสังเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเอาผ้าสีขาวมาห่อร่างซ้ำอีก 2 รอบ จากนั้นก็นำเอาชายผ้าที่เหลือม้วนเก็บเป็นปมก้นหอยบริเวณหลังศีรษะ เสร็จแล้วก็จะนำเอาด้ายดิบขนาดเท่ากับหัวแม่มือมามัดร่างเอาไว้เป็นช่วงจำนวน 5 ช่วง
การมัดทั้ง 5 จุดนี้ก็มีความหมายด้วยเช่นกันซึ่งประกอบไปด้วย กามฉันทะ ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน และความลังเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์สามารถบรรลุธรรมความดีได้ และยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายคนล้มเลิกความตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการมัดตราสัง สะท้อนความศรัทธา ความหมาย และความผูกพัน
มัดตราสัง ฟังดูเหมือนจะเป็นพิธีที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วในทางวิทยาศาสตร์ก็มีคำตอบเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงต้องมัดร่างผู้เสียชีวิตแบบนั้น
ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีฟอร์มาลีนสำหรับรักษาสภาพร่างของผู้เสียชีวิต ให้ดูเป็นปกติเหมือนตอนมีชีวิตอยู่ หากมีใครเสียชีวิตก็ต้องทำการมัดร่างให้แน่น เพราะเมื่อระยะเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง ศพจะเกิดอาการบวมอืดและพองจนทำให้โลงศพปริแตก ภายในโลงศพก็จะทำการบุด้วยผ้าเพื่อซับน้ำเหลือง จึงต้องทำการมัดร่างของผู้เสียชีวิตไว้อย่างแน่นหนา
หากถามว่าแน่นหนาแค่ไหน ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เคยมีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาเล่นมายากลให้รับชมที่พระราชวังบางปะอิน ฝรั่งคนนั้นได้ท้าทายให้คนดูนำเอาเชือกมามัดตัวเอง โดยกล่าวว่าถึงจะมัดยังไงก็สามารถแกะได้อย่างแน่นอน
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตำรวจเข้าไปมัดเชือก หลังตำรวจเข้าไปมัดฝรั่งนักมายากลผู้นั้น ฝรั่งก็ได้ร้องโวยวายออกมาทันที และไม่ยินยอมให้มัดอีกต่อไป แถมยังโกรธที่มัดเชือกอย่างป่าเถื่อนอีกต่างหาก หลังตำรวจออกมาจากม่าน ผู้คนก็ถามว่าไปมัดยังไง ทำไมฝรั่งถึงไม่ยอมให้มัดอีก ตำรวจเลยตอบกลับว่ามัดแบบมัดตราสัง มันแน่นหนาเสียจนฝรั่งถึงขั้นยอมแพ้เลยทีเดียว
การมัดตราสังไม่ได้เป็นพิธีศพที่ทำขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ชนชาติอื่นก็มีพิธีกรรมที่ใกล้เคียงกันด้วย อย่างเช่น ชาวอินเดียหรือชาวฮินดู นิยมใช้เชือกมัดบริเวณหัวแม่มือของร่างผู้เสียชีวิตให้อยู่ในท่าประนมมือ จากนั้นก็มัดหัวแม่เท้าทั้งสองข้างติดกันจนแน่น เสร็จแล้วถึงใช้ผ้าห่อมัดอีกทีหนึ่ง จะตัดเชือกแกะห่อผ้าก็ต่อเมื่อเข้าสู่พิธีเผาหรือฝังเท่านั้น นอกจากนี้ในกลุ่มชาวทมิฬเองก็มีประเพณีจัดการร่างผู้เสียชีวิตในลักษณะที่ใกล้เคียงกันด้วย
การมัดตราสังนักโทษประหาร เมื่อคนเป็นต้องเข้าพิธีคนตาย
หลายคนอาจมองว่าพิธีมัดตราสังเป็นพิธีที่ใช้สำหรับผู้ล่วงลับอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสำหรับเหล่านักโทษประหารที่ดวงชะตากำลังจะถึงฆาตก็ต้องเข้าพิธีนี้ก่อนเหมือนกัน แต่ที่น่าหดหู่ก็คือ พวกเขาจะถูกมัดก่อนที่จะเสียชีวิตเสียอีก
ตั้งแต่ในสมัยโบราณสมัยที่ยังคงใช้การประหารด้วยการฟันคอ นักโทษจะถูกมัดมือในลักษณะกำลังไหว้ ในมือมีดอกไม้ธูปเทียน ยุคต่อมาที่ใช้การประหารด้วยการยิงเป้า นักโทษจะถูกผูกกับหลักประหารที่มีลักษณะเหมือนไม้กางเขน โดยเอาแขนทั้งสองข้างอ้อมไปอยู่ด้านหลังหลักประหาร จากนั้นก็ทำการมัดมือประนมไว้ด้วยกัน ภายในมือมีทั้งดอกไม้และธูปเทียน
แต่หลังจากที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรูปแบบการประหารชีวิตเป็นการฉีดสารพิษเข้าสู่เส้นเลือด นักโทษต้องถูกผูกมือทั้งสองข้างไว้กับเตียงอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันการดิ้น นักโทษที่ถูกประหารด้วยวิธีการดังกล่าวจึงไม่ถูกมัดมือเข้าด้วยกันแต่อย่างใด ถือเป็นอันสิ้นสุดยุคสมัยการทำพิธีคนตายให้กับคนเป็น
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com