คำว่าโกศ มีหลายความหมาย หากหมายถึงที่ใส่กระดูกคนตายที่เผาแล้ว มีขนาดต่าง ๆ แต่ไม่ถึงกับใหญ่มากนัก มักทำเป็นทรงยอด มีฝาครอบ ซึ่งเราเห็นได้ตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ทั่วไป แบบนี้ใช้ลักษณนามว่า ใบ หรือ ลูก แต่หากหมายถึงที่ใส่ศพแบบนั่ง ขนาดก็จะใหญ่พอให้ใส่ศพได้ มักทำเป็นรูปกลมทรงกระบอก ฝาครอบมียอด ภาชนะใช้ใส่ศพนั่งที่ว่านี้ มีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน ชื่อที่ใช้เรียกมักสับสนกันในแต่ละยุค ปัจจุบันชั้นนอกจะเรียกว่า ลอง ส่วนชั้นใน จะเรียกว่าโกศ ถ้าเป็นยศของเจ้านายเรียกว่า พระโกศ มีลักษณนามว่า องค์ วันนี้ สายมู.com จะมาเล่าถึงประเภทของโกศแต่ละแบบตามลำดับยศ ใช้กันแบบไหนบ้าง ไปติดตามกันได้เลย
พระโกศแบ่งตามลำดับยศมีอยู่ 14 อย่าง ดังนี้
1. แบบทองใหญ่
– พระมหากษัตริย์
– พระอัครมเหสี
– พระยุพราช สยามมกุฎราชกุมาร สยามบรมราชกุมารี
– พระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี
– พระบรมราชวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ
2. แบบทองรองทรง (นับเสมอแบบทองใหญ่)
– พระมหากษัตริย์
– พระอัครมเหสี
– พระยุพราช สยามมกุฎราชกุมาร สยามมกุฎราชกุมารี พระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี
– พระบรมราชวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ
3. แบบทองเล็ก
– สมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นเอก)
4. แบบทองน้อย
– สมเด็จเจ้าฟ้าชั้น โท ตรี
– สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า
– สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
5. แบบกุดั่นใหญ่
– สมเด็จพระสังฆราช
6. แบบกุดั่นน้อย
– พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
– ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง
– ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
– ขุนนางชั้น สมเด็จเจ้าพระยา หรือ เทียบเท่า
7. แบบมณฑปใหญ่
– พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป หรือ ทรงกรม
8. แบบมณฑปน้อย
– พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
– ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า
– ประธานองคมนตรี องคมนตรี ที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง
– ขุนนางชั้นเจ้าพระยา ชั้นสุพรรณบัฏ หรือ เทียบเท่า
9. แบบไม้สิบสอง
– พระองค์เจ้าฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สถานภิมุข
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง
– สมเด็จพระราชาคณะ
-ขุนนางชั้นเจ้าพระยา ชั้นสัญญาบัตร หิรัญบัฏ หรือ เทียบเท่า
10. แบบราชวงศ์
– พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
– หม่อมเจ้าที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ขึ้นไป หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า
11. แบบราชนิกุล
– ราชสกุล ราชินิกุล ได้รับพระราชทาน แบบราชนิกุล
12. แบบเกราะ
– ผู้ที่ได้รับพระราชทานขนาดโถหรือแปดเหลี่ยม แต่มีรูปร่างใหญ่ ไม่สามารถลงลองสามัญได้ก็ให้ใช้แบบเกราะแทน
13. แบบแปดเหลี่ยม
– พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง
– คุณท้าวนางสนองพระโอษฐ์
– เจ้าจอมมารดา
– หม่อมเจ้าที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจะได้รับพระราชทานเป็นแบบแปดเหลี่ยม
– ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกขึ้นไป หรือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
– ขุนนางชั้น พระยาพานทอง หรือ เทียบเท่า
14. แบบโถ
– พระราชาคณะชั้นธรรม
– ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ และทุติยจุลจอมเกล้า
– ขุนนางชั้นพระยา หรือ เทียบเท่า