ศาลพระภูมิ สิ่งที่หลายคนมีอยู่ในบ้านแต่ไม่ค่อยรู้จักอย่างแท้จริง 

by saimu
0 comment
ศาลพระภูมิ

กลายเป็นเรื่องที่คนต่างชาติต้องอึ้งกันไปหมด เมื่อเห็นว่าในบ้านของคนไทยมักจะมีบ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่เสมอบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งสิ่ง ๆ นั่นก็คือ ศาลพระภูมิ ที่ชาวต่างชาติหลายคนเข้าใจผิดว่ามันคือ บ้านนก นั่นเอง เชื่อว่าส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น ล้วนแล้วแต่มีศาลขนาดเล็กเหล่านี้ตั้งอยู่หน้าบ้านกันทั้งหมดอย่างแน่นอน บางทีซื้อบ้านมือ 2 ก็มีศาลตั้งอยู่ภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว บางคนปลูกบ้านขึ้นมาใหม่ก็ซื้อมาตั้งไว้เพื่อให้เทวดาอารัก มาคอยคุ้มครองบ้านและคนภายในบ้านของเรา แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่ทราบว่าความเป็นมาของศาลดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไรและมีวิธีการตั้งอย่างไรบ้าง วันนี้ สายมู.com จะพาทุกคนไปดูกัน

รวมสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับศาลพระภูมิ 

ศาลพระภูมิ

1.ตำนาน 

ศาลพระภูมิ มีตำนานจากหลากหลายตำรา แต่ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกัน โดยพระภูมินั้นเป็นโอรสองค์โตจากทั้งหมด 9 พระองค์ของบิดาอย่างท้าวทศราช มีอีกชื่อหนึ่งว่า พระชัยมงคล เป็นเทพที่คอยดูแลปกปักรักษาบ้านเรือนและร้านค้า ในขณะที่พระโอรสที่เหลือนั้นก็จะคอยดูแลส่วนอื่นอย่างเช่น พระนครราช มีหน้าที่ในการปกปักรักษาเมือง พระคนธรรพ์ คอยดูแลรักษาสถานที่รื่นเริงอย่างเช่น สถานที่แต่งงาน หรือพระวัยทัต ที่คอยดูแลปูชนียสถานและวัดวาอารามต่าง ๆ เป็นต้น 

2.วิธีการเลือก 

ศาลที่ใช้นั้นจะมีเสาต้นเดียวและด้านบนก็จะเป็นบ้านทรงไทยขนาดเล็กคล้ายกับบ้านนก โดยปกติที่เราเห็นนั้นก็จะมีรูปทรงที่ค่อนข้างหรูหราอลังการ แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีกฎเกณฑ์ในการเลือกสี ความสูง หรือขนาดแต่อย่างใด ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการทำศาลสไตล์มินิมอลออกมา เพื่อให้เข้ากับรูปแบบบ้านที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ ระดับฐานหรือชานชาลาควรจะอยู่เหนือปากของเจ้าของบ้าน หรือเหนือคิ้วของเจ้าของบ้านขึ้นไป สีที่ไม่ควรใช้จะเป็นสีโทนเย็นอย่างสีฟ้า สีน้ำเงิน รวมไปถึงสีดำ เนื่องจากเป็นสีธาตุน้ำที่ไม่ถูกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นธาตุไฟ 

ศาลพระภูมิ

3.องค์ประกอบที่ควรมีภายใน 

ภายในศาลนั้นนอกจากจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วยังต้องมีเจว็ด เป็นแผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมาแกะสลักเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ที่ผ่านการทำพิธีปลุกเสกแล้ว ซึ่งก็คือตัวของพระภูมิซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลบ้านของเรานั่นเอง ต่อมาจะเป็นบริวารประกอบไปด้วยตุ๊กตาชายหญิงอย่างละ 1 คู่ ตุ๊กตาช้างม้าอีกอย่างละ 1 คู่ ตัวละครรำ 2 โรง นอกจากนี้ก็ยังจะต้องมีกระถางธูป ฉัตรเงินฉัตรทอง แจกัน เชิงเทียน ผ้าผูกเจว็ด ผ้าสามสี ผ้าขาว แป้งเจิม และทองคำเปลว 

ศาลพระภูมิ

4.สถานที่ตั้ง 

การตั้งศาลพระภูมิจะต้องตั้งบนพื้นดินโดยห้ามเป็นพื้นเดียวกันกับตัวบ้าน หากไม่มีพื้นดินจะตั้งบนดาดฟ้าก็ได้เช่นเดียวกัน ให้ยกพื้นสูงขึ้นมาจากดินประมาณ 1 คืบ ตั้งให้ห่างจากตัวบ้านโดยที่เงาบ้านไม่สามารถทอดลงมาทับได้ ต้องอยู่ห่างจากห้องน้ำและไม่หันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ ควรมีระยะห่างจากกำแพงอย่างน้อย 1 เมตร ส่วนทิศที่ตั้งที่ดีที่สุดคือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาเป็นทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนทิศที่ไม่ควรตั้งโดยเด็ดขาดคือทิศใต้และทิศตะวันตก การเกลี่ยดินบริเวณที่จะตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นห้ามใช้เท้าโดยเด็ดขาด หลังจากเกลี่ยดินเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ใช้น้ำมนต์ธรณีสารประพรมให้เรียบร้อย 

5.การทำพิธีปักเสา 

การทำพิธีการปักเสานั้นใกล้เคียงกับการทำพิธียกเสาเอกของบ้านนั่นก็คือ ต้องมีพิธี มีของที่ต้องใช้ไม่ว่าจะเป็นพานครูสำหรับการใส่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าบุหรี่ ผ้าขาว และเงินมงคลจำนวน 99 บาท หรือ 6 สลึง ส่วนของมงคลที่จะต้องใส่ในหลุมสาวนั้นจะประกอบไปด้วย เหรียญเงินเหรียญทองอย่างละ 9 เหรียญ ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบมะยม ใบรัก ใบนางกวัก ใบนางคุ้ม ใบกาหลงอย่างละ 9 ใบ ดอกพุทธรักษาและดอกบานไม่รู้โรยอย่างละ 9 ดอก ไม้มงคล 9 ชนิด แผ่นเงิน แผ่นทอง แผ่นนาค อย่างละ 1 ชุด และพลอยนพเก้าอีก 1 ชุด

อยากทำพิธีตั้งศาลพระภูมิต้องไม่ทำในวันเหล่านี้ 

ศาลพระภูมิ

หากคุณขึ้นบ้านใหม่หรือมีบ้านอยู่แล้วแต่ยังไม่มีศาลพระภูมิแล้วต้องการจะทำพิธีตั้งศาล หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเลยก็คือ ฤกษ์งามยามดี นั่นเอง เรื่องฤกษ์ยามนั้นเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อนและมีความสลับซับซ้อน ดังนั้นหากต้องการความเป็นสิริมงคลในการตั้งศาลภายในบ้าน จะต้องถามคนที่มีความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ยามเป็นอย่างดี แต่ที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้เป็นฤกษ์ยามอย่างง่ายๆ สำหรับใครที่อยากจะตั้งตามฤกษ์สะดวก ไม่ควรตั้งตามวันเหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นวันต้องห้ามที่เป็นอัปมงคลนั่นก็คือ 

เดือนมกราคม ไม่ควรตั้งในวันศุกร์และวันพุธ 

เดือนกุมภาพันธ์ ไม่ควรตั้งในวันอังคาร 

เดือนมีนาคม ไม่ควรตั้งในวันจันทร์ 

เดือนเมษายน ไม่ควรตั้งในวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ 

เดือนพฤษภาคม ไม่ควรตั้งในวันศุกร์และวันพุธ 

เดือนมิถุนายน ไม่ควรตั้งในวันอังคาร 

เดือนกรกฎาคม ไม่ควรตั้งในวันจันทร์ 

เดือนสิงหาคม ไม่ควรตั้งในวันเสาร์และวันพฤหัสฯ 

เดือนกันยายน ไม่ควรตั้งในวันศุกร์และวันพุธ 

เดือนตุลาคม ไม่ควรตั้งในวันอังคาร 

เดือนพฤศจิกายน ไม่ควรตั้งในวันจันทร์ 

เดือนธันวาคม ไม่ควรตั้งในวันเสาร์และวันพฤหัสบดี

You may also like

Leave a Comment