การมูเตลูเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยเรามาช้านาน อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าเรามีพระสยามเทวาธิราชเป็นผู้ที่คอยปกป้องคุ้มครองประเทศไทยของเราให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้คนต่างเคารพนับถือเทพองค์นี้เป็นอย่างมาก เวลาจะบนบานศาลกล่าวอะไรก็มักจะอ้างถึงท่านเสมอ ท่านเป็นใครมาจากไหน และเพราะเหตุใดจึงทำหน้าที่ดูแลประเทศไทยของเรา วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ประวัติความเป็นมาของพระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราชเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นปูชนียวัตถุที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของชาติ และยังเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเคารพนับถืออีกด้วย
ท่านเป็นงานประติมากรรมที่อยู่ในท่ายืน ถูกหล่อขึ้นมาด้วยทองคำแท้ ขนาดของจริงจึงไม่ใหญ่โตแต่อย่างใด มีความสูงเพียงแค่ 8 นิ้วและความกว้างเพียงแค่ 2 นิ้วเท่านั้น ใช้งานศิลปะกษัตริย์ติยาธิราชในการออกแบบ
ดังนั้นฉลองพระองค์จึงทรงเครื่องเหมือนกับเทพารักษ์ มีเครื่องศิราภรณ์เป็นมงกุฎ พระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกจีบขึ้นมาเสมอหน้าอก
พระสยามเทวาธิราชถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยดิศกุล ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชื่นชอบการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จึงมีพระราชดำริว่า
ประเทศไทยนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเกือบเสียอิสรภาพอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็สามารถรอดจากภัยอันตรายจากภายนอกได้อยู่เสมอ ต้องเป็นเพราะมีเทพยดาที่คอยปกปักรักษาประเทศอยู่อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะทำรูปจำลองเทพองค์นั้นขึ้นมาเพื่อทำการสักการบูชา
ด้วยเหตุนี้จึงมีการหล่อรูปจำลองของพระสยามเทวาธิราชขึ้น เพื่อให้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทพยดาที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาประเทศไทยอยู่ นั่นเอง
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ผู้สรรค์สร้างพระสยามเทวาธิราช
ผู้ที่ทำหน้าที่สรรค์สร้างพระสยามเทวาธิราชองค์จริงขึ้นมาได้อย่างสวยงามไร้ที่ติคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีของกรมช่างสิบหมู่ ท่านเป็นผู้หล่อปั้นองค์จริงออกมาได้อย่างงดงาม ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นผู้ปั้นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ที่ตั้งประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทพระเทพบิดรอีกด้วย
เปิดรายชื่อเครื่องสังเวยที่ถวายให้กับพระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราชเป็นเทพที่พระมหากษัตริย์ทรงมีดำริให้สร้างรูปจำลองขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องมีการกราบไหว้และถวายเครื่องสังเวย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายเครื่องสังเวยเพื่อเป็นราชศักราชเป็นประจำในวันอังคารและวันเสาร์ ก่อนถึงช่วงเวลาเพล
พนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นในจะทำหน้าที่เชิญตั้งเครื่องสังเวย ประกอบไปด้วยข้าวสุก หมูนึ่ง น้ำพริกเผา ปลานึ่งและน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า พร้อมทั้งผลไม้ตามฤดูกาลอีก 2 อย่าง และน้ำสะอาด
นอกจากนี้ยังมีการจัดพระราชพิธีสังเวยพระสยามเทวาธิราชในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นประจำทุกปีอีกด้วย เพราะเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของไทย นั่นเอง
เพราะเหตุใด คนไทยจึงนิยมกราบไหว้พระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราชเป็นตัวแทนของเทพที่คอยปกปักรักษาบ้านเมืองของเรา ดังนั้นชาวไทยจึงนิยมกราบไหว้ท่านเป็นอย่างมาก เชื่อว่าการกราบไหว้ท่านจะช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการงานที่จะเจริญรุ่งเรือง มีอายุยืนยาว ช่วยให้มีโชคลาภ มีเงินทองไหลมาเทมา
ไม่เพียงเท่านี้ยังช่วยปัดเป่าเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติธรรมชาติ อันตรายทั้งหลายให้ห่างไกลจากประเทศไทยของเราได้อีกด้วย หากประเทศดี ความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเราก็จะดีตามไปด้วย มันจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนต่างเดินทางไปกราบไหว้รูปจำลองของเทพองค์นี้ทั้งองค์จริงและองค์จำลอง กันเป็นจำนวนมาก
พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ที่ไหนบ้าง
พระสยามเทวาธิราชนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างเคารพนับถือ เป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายทั้งหลาย ไม่ให้สามารถทำลายประเทศไทยของเราได้ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีองค์จริงและองค์จำลองอยู่มากมายกระจายไปทั่วทั้งประเทศ
องค์จริงของประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วที่ถูกทำขึ้นด้วยไม้จันทน์ ลักษณะคล้ายกับวิมานเก๋งจีน เบื้องหลังมีภาษาจีนสลักอยู่บนผนังที่แปลว่า ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่บริเวณมุขกลางในพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง
ตั้งขึ้นอยู่เหนือรับแลของพระทวารเทวราชมเหศวร์ บริเวณตอนกลางของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีกทีหนึ่ง ส่วนองค์จำลองนั้นกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ดังนี้
- สวนมโนมัย ตั้งอยู่ในดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
- ช่องตะโก ตั้งอยู่ในบ้านหนองเสม็ด ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ไกลจากอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
- ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งอยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- ตำบลปาดังเบซาร์ ตั้งอยู่ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- สนามกอล์ฟนอร์ทเทิร์น ตั้งอยู่ในตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีองค์จำลองอีก 2 แห่งที่ผู้คนนิยมเดินทางไปสักการบูชาเช่นเดียวกัน ประกอบไปด้วย
- วัดเทวราชกุญชร เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเทเวศร์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อยู่ในโซนห้องชีวประวัติของอดีตประธานรัฐสภา 5 สมัยอย่าง ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน
- หน้าสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ตั้งอยู่ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถูกสร้างขึ้นโดยพระครูอุทัยธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่ามะไฟ
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com