ไหว้กลางบ้าน การบูชาพระภูมิและเจ้าหน้าที่เจ้าทาง 

by saimu
0 comment
ไหว้กลางบ้าน

ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย การไหว้หรือการทำพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่เพียงเท่านั้นมันยังมีหลายรูปแบบให้เราได้เรียนรู้อีกต่างหาก อย่างเช่นการไหว้กลางบ้านที่หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร ทำไมเราถึงต้องไหว้บริเวณกลางบ้านของเราด้วย ความจริงแล้วมันเป็นชื่อเรียกของการไหว้ทั้งพระภูมิและเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขอให้พวกท่านคอยปกปักรักษาเราให้รอดพ้นจากภัยอันตราย ความเป็นมาของพิธีดังกล่าวเป็นอย่างไร และเราจะทำพิธีอย่างไรได้บ้าง ไปดูกัน

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับพิธีไหว้กลางบ้าน ทำไมเราถึงต้องไหว้บริเวณกลางบ้านด้วย 

ไหว้กลางบ้าน

พิธีไหว้กลางบ้านเป็นชื่อเรียกพิธีกรรมที่ฟังดูน่าสับสน แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการไหว้พระภูมิและเจ้าที่เจ้าทางที่คอยปกปักรักษาทั้งบ้านเราและคนที่อาศัยอยู่ภายในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข รอดพ้นจากภัยอันตราย มีแต่ความเจริญก้าวหน้า มีโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา 

แต่สาเหตุที่ต้องทำพิธีบริเวณกึ่งกลางของตัวบ้าน ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วศาลพระภูมิจะอยู่หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะว่ากึ่งกลางของบ้านเราเองก็มีเจ้าที่เจ้าทางที่เปรียบเสมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คอยดูแลเราไม่ต่างเช่นเดียวกัน 

การอาศัยอยู่ภายในบ้าน บางครั้งอาจมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม มีการลบหลู่ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี การไหว้กลางบ้านจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การขอพรและขอให้คุ้มครองเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการขอขมาลาโทษเพื่อช่วยเสริมดวงให้ดีขึ้นกว่าเดิม และช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ 

ความแตกต่างระหว่างพระภูมิและเจ้าที่เจ้าทาง 

ไหว้กลางบ้าน

โดยปกติแล้วเราจะเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาบ้านของเรารวม ๆ ว่า พระภูมิเจ้าที่ แต่ความจริงแล้วพระภูมิที่อาศัยอยู่ในศาลพระภูมิกับเจ้าที่เจ้าทางไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนที่ทุกคนจะไปทำพิธีไหว้กลางบ้าน เราอยากจะพามาแนะนำให้รู้จักกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 สิ่งนี้ก่อนที่จะไปไหว้ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ใครเป็นใครกันแน่

  • พระภูมิ เป็นเทวดาชั้นยามาวดีที่อยู่สูงกว่าอากาศ ตำแหน่งจะมีความใกล้เคียงกับเทวดาชั้นจตุมหาราชิกา ผู้คนจึงมักเข้าใจผิดว่าพระภูมิเป็นเทวดาอยู่บนชั้นจตุมหาราชิกา ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสถานที่หรือสิ่งของ อย่างเช่นหากปกป้องต้นไม้ก็จะเรียกว่ารุกขเทวดา แต่ถ้าปกป้องที่ดินหรือบ้านที่อยู่อาศัยก็จะเรียกว่าพระภูมิ เป็นเทวดาอารักษ์ที่ถูกอัญเชิญมาเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลพื้นที่และปกป้องสมาชิกที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน มีการตั้งศาลพระภูมิแบบเสาต้นเดียวเอาไว้เป็นสถานที่อยู่อาศัย 
  • เจ้าที่เจ้าทาง เป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือเจ้าของที่ดินที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ก่อนที่เราจะย้ายเข้ามาอยู่ ไม่ได้รับการอัญเชิญมา แต่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว บางคนอาจจะไม่ได้ตั้งศาลเอาไว้ให้ แต่บางคนก็อาจจะมีศาลตั้งเอาไว้ไม่ไกลจากศาลพระภูมิ ศาลของเจ้าที่เจ้าทางจะมี 4 เสา ลักษณะคล้ายกับบ้านทรงไทย ความสูงจะอยู่ต่ำกว่าศาลพระภูมิ

สิ่งที่ใช้ในการไหว้กลางบ้าน

ไหว้กลางบ้าน

  พิธีไหว้กลางบ้านไม่ได้ใช้แค่ธูปอย่างเดียวเหมือนกับการไหว้กลางแจ้งที่ชื่อใกล้เคียงกัน เราต้องเตรียมของไหว้ให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นธูปจำนวน 5 ดอก เทียนจำนวน 2 เล่ม น้ำเปล่าหรือน้ำชาจำนวน 5 แก้ว ดอกดาวเรืองจำนวน 9 ดอก หมากพลูจำนวน 9 คำ ผ้าขาวบางจำนวน 1 ผืน และผลไม้มงคลทั้งหมด 9 ชนิด เราสามารถเลือกซื้อผลไม้ได้ตามความสะดวก แต่ขอให้เป็นผลไม้ที่มีชื่อมงคล เพราะจะยิ่งช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลในการทำพิธีได้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น องุ่นแดง กล้วย ส้ม ลูกพลับ แก้วมังกร หรือทับทิม เป็นต้น

วันและเวลาที่เหมาะสมสำหรับการไหว้กลางบ้าน 

ทุกพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกจัดขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการไหว้กลางบ้านจำเป็นที่จะต้องทำในช่วงที่มีฤกษ์งามยามดี วันและเวลาที่เหมาะสม จะเป็นวันอังคารหรือวันเสาร์ก็ได้เช่นเดียวกัน หากจะให้ดีเราขอแนะนำให้ไหว้ในช่วงเวลาเที่ยงตรง เนื่องจากเป็นวันแข็งและวันรับ จะยิ่งช่วยให้การไหว้กลางบ้านได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนเดือนที่จะทำพิธีสามารถทำได้ทุกเดือน ยกเว้นเดือนเมษายนและเดือนตุลาคม เพราะในเดือนเมษายนของประเทศไทยเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ส่วนเดือนตุลาคมก็เป็นเดือนปล่อยผี จะมีสัมภเวสีและวิญญาณเร่ร่อนมากมายมาขอส่วนบุญ 

ดังนั้นจึงไม่ค่อยนิยมจัดพิธีไหว้กลางบ้านกันสักเท่าไหร่ ส่วนความถี่ก็แล้วแต่เรากำหนด เพราะไม่มีการกะเกณฑ์แบบตายตัว ว่าต้องไหว้เป็นประจำทุกกี่เดือน แต่โดยปกติแล้วผู้คนก็จะไหว้กันเป็นประจำทุก 3-6 เดือนแล้วแต่ความสะดวก 

เปิดวิธีไหว้กลางบ้าน ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง 

ไหว้กลางบ้าน

พิธีไหว้กลางบ้านมีวิธีการที่ไม่ได้สลับซับซ้อนมากไปกว่าการไหว้เจ้าที่เจ้าทางหรือไหว้พระภูมิทั่วไปที่เราไหว้เป็นประจำทุกวัน เพียงแต่มีการจัดพิธีและมีของที่ใช้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น โดยวิธีการมีดังนี้ 

  1. เตรียมของ ให้เรานำเอาโต๊ะมาตั้งไว้บริเวณกลางบ้าน จากนั้นนำเอาผ้าสีขาวมาปูโต๊ะให้เรียบร้อย นำเอาของที่เตรียมเอาไว้มาจัดเรียงใส่ภาชนะหรือถาดรอง เตรียมที่ปักธูปเทียนให้พร้อม โดยผู้ไหว้จะต้องหันหน้าเข้าสู่ตัวบ้าน 
  2. จุดธูปเทียนและกล่าวบทสวด หลังจากที่เราเตรียมของเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ให้เราทำการจุดธูปเทียนทั้งหมด ปักเอาไว้ในภาชนะที่เราเตรียมไว้ จากนั้นก็ให้ตั้งนะโม 3 จบ กล่าวต่อว่า ภูมมัสมิง ทิสาภาเค สันติภูมมา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะ มะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิ คุณูปเปตัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ จากนั้นก็ให้บอกชื่อนามสกุล กล่าวคำถวายของสักการะบูชา ขอโทษ ขออโหสิกรรม และขอให้ช่วยปกป้องคุ้มครองบ้าน ผู้คนที่อยู่อาศัย จากนั้นก็สามารถขอพรได้ตามความต้องการ 
  3. ลาของ เมื่อกล่าวคำสวดทั้งหมดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้รอจนกว่าธูปเทียนจะดับลงทั้งหมด จากนั้นให้นำเอามือไปจับภาชนะที่ใส่ของแล้วกล่าวคำลาว่า ขอเดนขอทานให้ลูกหลานกิน เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นก็สามารถเก็บข้าวของ นำเอาของที่ถวายมารับประทานเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตได้เลย 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment