แม้ว่าสิ่งที่ผู้คนเคยเชื่อถือในอดีตหลายอย่างจะค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาท่ามกลางเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นในทุก ๆ วัน แต่สิ่งที่เรายังคงเห็นได้ทั่วไปตามร้านค้าก็คือ นางกวัก นั่นเอง แม้ว่ายุคสมัยจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่นางกวักก็ยังได้รับความนิยมในการเคารพบูชา เพื่อช่วยดึงดูดโชคลาภและลูกค้าอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ สายมู.com จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเทพองค์นี้ว่า เธอคือใครและเพราะเหตุใดคนทำมาค้าขายจึงนิยมบูชาเป็นอย่างมาก
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับนางกวักและประวัติความเป็นมา
นางกวัก นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบ่อยที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ เพียงแค่เราเดินไปตามร้านค้าไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหารหรือร้านขายของชำ ก็มักจะเห็นผู้คนบูชาอยู่เสมอ เนื่องจากมีความเชื่อว่า การบูชานางกวักจะช่วยดึงดูดลูกค้าและกวักเงินกวักทองเข้ามาภายในร้านตามชื่อนั่นเอง
นางกวักนั้นจัดว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภในประเทศไทยก็ว่าได้ แถมยังเป็นเทพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกด้วย เป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในลักษณะของผู้หญิงสวมเครื่องแต่งกายไทยโบราณ นั่งพับเพียบเรียบร้อยมือข้างซ้ายวางเอาไว้ข้างลำตัวหรือวางเอาไว้บนตัก สวนมือข้างขวานั้นจะยกขึ้นมาอยู่ที่ระดับไหล่และทำท่ากำลังกวักมือเรียก เหมือนกับการเรียกทรัพย์สินเงินทองเรียกลูกค้า ให้ผู้คนเข้ามาอุดหนุนจับจ่ายใช้สอยในร้านของเรานั่นเอง
คติการนับถือนางกวักเพื่อเสริมดวงในด้านการทำมาค้าขายนั้น เชื่อว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยโบราณที่คนไทยนับถือผีบรรพชนก่อนที่จะได้รู้จักกับศาสนาพุทธ นับเป็นสตรีไทยคนแรก ๆ ที่มีทักษะความสามารถในการทอผ้าระดับสูง จนสามารถขายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับข้าวของอย่างอื่น สามารถใช้การทอผ้าของตนเองเป็นอาชีพในการสร้างรายได้เลี้ยงตัว
สิ่งที่ผู้คนเชื่อนั้นตกทอดต่อกันมาในชาวไทยหลากหลายกลุ่มมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเวลาผ่านไปอย่างเช่น ในลพบุรีและสุโขทัยซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทพวนนั้น จะมีการละเล่นโดยจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า กวัก ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับการใช้ปั่นด้าย สำหรับการเชิญผีบรรพชนเข้ามาลงที่คนทรง เพื่อพบปะพูดคุยและเยี่ยมเยียนลูกหลาน
นอกจากนี้ยังสามารถทำนายทายทักดวงชะตาและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย เทพองค์นี้ปรากฏตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมในยุคของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก มีกิจการร้านค้ามากมายที่ขยับขยายทั้งไปในกรุงเทพฯ รวมไปถึงตามหัวเมืองใหญ่ และสิ่งที่ผู้คนเชื่อก็ได้สืบทอดส่งต่อมาถึงผู้คนในยุคปัจจุบันนั่นเอง
ลักษณะของนางกวักนี้จะตรงตามคติความสวยงามของไทยโบราณ ส่วนใหญ่แล้วมักพบว่าเป็นหญิงที่ไว้ผมทรงดอกกระทุ่มหรือผมปีก หน้าตาสะอาดสะอ้าน สวมใส่เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแบบเต็มยศ ลักษณะท่าทางการยกมือขึ้นกวักนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการกินไม่หมด ยิ่งอยู่สูงกว่าปากได้ยิ่งดี เพราะหากต่ำกว่าปากนั้นจะมีความหมายตรงกันข้ามนั่นก็คือกินไม่พอนั่นเอง
ในอดีตส่วนใหญ่มักจะออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถซุกตามแผงขายของได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นการเกะกะบริเวณหน้าร้าน แต่ปัจจุบันได้พัฒนาไปมาก มีทั้งขนาดที่ใหญ่สำหรับวางเอาไว้บริเวณหน้าร้าน หรือเป็นรูปปั้นขนาดใหญ่เท่ามนุษย์จริงก็มีให้เห็นด้วยเช่นเดียวกัน ท่าทางก็แตกต่างจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการยกมือขึ้นกวักทั้ง 2 ข้าง มีรูปร่างที่ดูอวบอิ่ม บ้างก็มีการแต่งกายที่ดูทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเช่น การสวมแว่นกันแดดหรือถือกระเป๋าแบรนด์ดัง เป็นต้น
เปิดคติของคนในแต่ละพื้นที่เกี่ยวกับนางกวัก
นางกวัก นั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเพิ่มโชคลาภในด้านการทำมาค้าขาย แต่ความจริงแล้วมีคติความเชื่อเกี่ยวกับพวกเธอในหลายพื้นที่เลยทีเดียวอย่างเช่น ในประเทศไทยยุคโบราณมีแหล่งที่มาไม่แน่ชัดแต่คาดการณ์กันเอาไว้ว่า น่าจะพัฒนามาจากการที่คนไทยในอดีตนับถือผีก่อนจะรู้จักกับศาสนาพุทธ
มีบทสวดคาถาบูชาที่กล่าวว่า นางกวักเป็นบุตรของปู่เจ้าเขาเขียวที่มีชื่อว่า นิลบรรพตเทพสุดา เธอนั้นมีความสามารถในการเย็บปักถักร้อยและยังเป็นอีกหนึ่งภาคของพระวิศวกรรมอีกด้วย แต่เธอนั้นจะมีความสามารถในการกวักทรัพย์สมบัติมาให้กับผู้ที่เคารพบูชา แต่ถึงอย่างนั้นนักโบราณคดีก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใดว่า ทั้งสองนั้นเป็นคนเดียวกัน
ในฝั่งของลพบุรีเองก็มีนิทานพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเนื้อหาช่วงหนึ่งที่กล่าวถึงท้าวกกขนาก เจ้าเมืองสิงขรที่มีจิตใจดำมืด ได้ต่อสู้กับพระรามแต่พลาดท่าถูกพระรามแผลงศรพรหมมาสตร์ ตรึงเอาไว้บนเขาวงพระจันทร์และจะสามารถออกไปได้เมื่อเข้าสู่ยุคพระศรีอาริย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ธิดาของเจ้าเมืองสิงขรอย่างนางนงประจันทร์ธิดาพยายามทอผ้าจีวรขึ้นมาจากใยบัวเพื่อถวายให้กับพระศรีอาริย์ที่จะช่วยปลดปล่อยบิดาของตนเองในอนาคต เมื่อชาวบ้านรู้เข้าก็โกรธเกลียดเธอเป็นอย่างมาก เพราะกลัวว่าหากพ่อของเธอหลุดออกมาได้ จะกลับมาทำร้ายผู้คนภายในเมืองอีก ปู่เจ้าเขาเขียวซึ่งเป็นมิตรสนิทกันกับเจ้าเมืองสิงขร จึงรู้สึกสงสารนางนงประจันทร์เป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ปู่เจ้าจึงส่งธิดาของตนเองมาอยู่เป็นเพื่อนกับนางนงประจันทร์ จากเดิมที่ผู้คนเคยรังเกียจเธอก็กลายเป็นมีแต่ผู้คนรักใคร่เอ็นดู พระนางจึงยกย่องให้ลูกสาวของปู่เจ้าเขาเขียวเป็นผู้นำพามาซึ่งความบริบูรณ์ในโภคทรัพย์นั่นเอง