งากำจัด เป็นวัตถุอาถรรพ์ที่ได้ยินกันบ่อย ๆ แต่เป็นของที่หายากมาก ๆ งากำจัดนี้หมายถึง งาช้างที่หักคาต้นไม้ เป็นงาของช้างตกมันหรือช้างเกเร อารมณ์ร้ายและมีฤทธิ์เดชมาก อาละวาดแล้วเอางาไปแทงต้นไม้ทำให้งาหักคาต้นไม้ งาช้างที่แตกหักออกมาในขณะที่ช้างยังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก โบราณท่านจึงถือว่าเป็นของทนสิทธิ์ มีฤทธิ์อำนาจด้านคงกระพัน เสริมบารมี แก้อาถรรพ์ แล้วยังเชื่อว่ามีเสน่ห์อีกด้วย
แม้จะไม่ผ่านการปลุกเสก ว่ากันว่าเมื่อพกพาติดตัวจะเป็นเสน่ห์และมหาอำนาจอย่างมาก แต่เมื่อผ่านพิธีกรรมมาแล้ว สรรพคุณย่อมเพิ่มอำนาจเป็นทวีคูณ โดยจะสามารถเพิ่มตบะเดชะ เพิ่มบุญบารมี เพิ่มวาสนา ต่อชะตาชีวิตให้แก่ผู้ครอบครองบูชา ทำให้เกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีความเจริญรุ่งเรือง มีโชคลาภเงินทอง และมีสุขในทุก ๆ ด้าน เป็นเครื่องรางอาถรรพ์ หนุนดวงชะตาคนดวงตกได้เป็นอย่างดี ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้ และในวันนี้ก็พลาดไม่ได้ที่ สายมู.com จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเครื่องรางของขลังชนิดนี้กัน ไปติดตามกันได้เลย
เปิดตำนาน งากำจัด งากำจาย เชื่อกันว่ามันมีอิทธิฤทธิ์มีอำนาจ
งากำจัดที่เกิดจากงาช้างพลาย ช้างตัวผู้ ช้างตกมัน หรือ ช้างเกเร อารมณ์ร้าย มีฤทธิ์เดชมาก หากแตกหักออกมาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ถือว่าเป็นเรื่องที่พบได้ยากมาก และถ้าหากช้างตกมันวิ่งไล่อาละวาดไปทั่ว แล้วเอางาแทงเข้ากับต้นไม้ด้วยอารมณ์ร้าย รุนแรง ฉุนเฉียวขณะตกมันแล้วงาหักติดกับต้นไม้ ซึ่งเชื่อกันว่าเทวดาของต้นไม้นั้น ๆ ทำให้ปลายงาช้างหัก เป็นการกำราบหยุดอารมณ์ร้ายของช้าง ทำให้ช้างสงบนิ่งลง จึงมีความเชื่อว่างาชนิดนี้ได้สัมผัสกับพลังของเทวดา จะมีเทวดารักษาไว้เพื่อมอบให้แก่ผู้มีบุญ ต้องทำพิธีจุดธูปบวงสรวงบอกกล่าวก่อน จึงจะสามารถแกะงาออกจากเปลือกได้ ถือว่าเป็นของทนสิทธิ์ มีฤทธิ์อำนาจ ด้านคงกระพัน เสริมบารมี แก้อาถรรพ์ และเป็นเมตตามหานิยมยิ่งนัก งาที่แตกออกมาจึงไม่ได้ชิ้นใหญ่มากนัก แต่ต้องระวังให้ดี เพราะของปลอมมีมาก จนหาของจริงไม่เจอ ส่วนใหญ่แล้วหากได้งาจำกัดมา คนก็มักจะนำไปให้อาจารย์ที่มีวิชาอาคม แกะเป็นเครื่องรางของขลัง นิยมนำมาทำด้ามมีดหมอ
ส่วนงากำจาย ช้างสองเชือกที่เข้าต่อสู้กันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ เป็นจ่าโขลงหรือแย่งตัวเมียแล้วต่อสู้กัน จนอาจมีปลายงาหัก แตกกระจาย แล้วตกหล่นอยู่กับพื้นดินตามป่า ซึ่งในกรณีนี้ พรานป่าที่มีโอกาสเห็นช้างต่อสู้กัน มักจะคอยเฝ้าดูเพื่อคอยเก็บปลาย หรือเศษงาที่อาจมีหล่นมาบูชาติดตัว แต่ก็คงไม่ทุกครั้งไปที่งาจะหัก เมื่อผ่านการพกพาติดตัวหรือโดนเหงื่อไคล เนื้อจะฉ่ำใสเหมือนมีน้ำหล่อเลี้ยงคล้ายกับสีน้ำผึ้ง ซึ่งจะมีสีอ่อนแก่ไม่เท่ากัน เพราะงานั้นหักในขณะที่เจ้าของงานั้นยังมีชีวิตอยู่ บางคนอาจเรียกว่ายังมีน้ำเลี้ยงแห่งชีวิตอยู่ ต่างจากงาของช้างที่ตายแล้ว แล้วทำการเลื่อยออกมา แม้บางครั้งเป็นงาแก่ที่ผ่านการใช้มายาวนาน โดนเหงื่อไคลผู้พกพาติดตัว การเหลืองฉ่ำถึงแม้จะเกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นสีน้ำผึ้ง