กังสดาลเครื่องรางแห่งความมงคลและความร่ำรวย ขจัดอุปสรรค เปิดดวงวาสนาด้วยเสียงเคาะ กังสดาลเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งพม่า จีนสิบสองปันนา ลาว และเขมร มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือไตรภูมิพระร่วงตอนหนึ่งว่า “พื้นฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึก” เพื่อแจ้งให้พระอินทร์บนสวรรค์ได้รับฟังและทราบว่ามีผู้ใฝ่ดีใฝ่กุศล ทำบุญสร้างกรรมดีในพระพุทธศาสนาแล้ว และหากวันใดที่ไม่มีเสียงของเครื่องรางชิ้นนี้ดังขึ้นไปถึงสวรรค์ นั่นก็หมายความว่าพระพุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปจากมนุษยโลกนี้แล้ว วันนี้ สายมู.com จะพาทุกคนไปดูว่าเครื่องรางชิ้นนี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไร และมีวิธีการใช้งานอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย
รูปทรงกังสดาล
กังสดาลมีรูปทรงคล้ายค้างคาวกางปีก เป็นรูปทรงที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีนอย่างแท้จริง มีความหมายถึงความเป็นปราชญ์ที่จีนเปรียบไว้กับค้างคาว เพราะสัตว์ประเภทนี้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในที่สูงโดยตลอด คือกินสูง ไม่ลงมาเกาะกินของต่ำ นอนสูง และประการสุดท้ายคือตายสูง คือเวลาค้างคาวตาย ค้างคาวจะจับกิ่งไม้หรือเพดานไว้แล้วตาย ด้านบนของเครื่องรางชิ้นนี้จะมีการเจาะรูเอาไว้สำหรับแขวน ถ้าไม่แขวนจะเคาะไม่ดังกังวานเลย การที่เราพบเครื่องรางชนิดนี้มีรูปคล้ายทรงค้างคาวกางปีก เป็นจำนวนมากในประเทศพม่าและทางภาคเหนือของไทยและลาวนั้น เพราะทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวต่างก็มีพรมแดนติดกัน จึงได้รับอิทธิพลของเครื่องรางชนิดนี้มาจากประเทศจีนพร้อม ๆ กัน ส่วนชนิดที่เป็นทรงกลมนั้น ได้รับอิทธิพลทั้งมาจากอินเดียและจีนอีกเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ที่จะสำแดงในรูปทรงกลมเสมอ เพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจและพลังอันเต็มเปี่ยมอยู่ในเส้นรอบวงนั้น
ความเชื่อของกังสดาล
ความเชื่อเกี่ยวกับการตีหรือเคาะนั้น สืบเนื่องมาจาก ชาวพม่าเชื่อกันว่า เวลาที่ได้ทำบุญทำกุศลใด ๆ แล้ว สมควรที่จะแบ่งส่วนบุญนั้นให้กับบรรดาเหล่าเทพเทวดาทั้งหลายด้วย ก่อนที่จะมีการสวดมนต์ใด ๆ ก็ตาม จะต้องทำการเคาะหรือตีก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวอัญเชิญให้เทวดาทั้งหลายได้มาร่วมรับฟัง และเมื่อสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องตีหรือเคาะอีกครั้ง เพื่อบอกบุญให้เทวดาได้ร่วมอนุโมทนา
นอกจากนั้นแล้วในเวลาที่พระภิกษุพม่าจะออกบิณฑบาต ก็จะมีการนำเอากังสดาลขนาดย่อมที่ถือได้สะดวก นำมาเคาะนำแถวพระภิกษุสามเณร เพื่อบอกบุญให้ญาติโยมรู้ว่า พระมาแล้ว เตรียมตัวมาใส่บาตรกัน ประเพณีนี้คล้ายกับทางเหนือของไทยในอดีต
วิธีบูชา
ท่องคาถาแล้วเคาะเรียกสิ่งที่ตนเองปรารถนา เสมือนเบิกบุญมาใช้ อยากจะได้อะไร ก็เคาะให้เสียงดังออกไป เวลาทำบุญก็ให้เคาะ เพื่อบอกให้เทวดามาร่วมอนุโมทนา เสียงที่ดังกังวานออกไปถือเป็นเสียงแรกแห่งฤกษ์งามยามดี เป็นเสียงมงคลแห่งงานบุญทั้งหลาย เป็นเสียงเรียกโชคลาภเงินทอง คนที่ดีให้ไหลมาตามท่วงทำนอง ทั้งยังขจัดภัย กันอุปสรรค