พระกริ่งเขมร สุดยอดวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างมากประเภทหนึ่ง พระกริ่งในประเทศไทยแบ่งออกเป็น “พระกริ่งนอก” คือ พระกริ่งจากต่างประเทศ และ “พระกริ่งใน” คือ พระกริ่งที่สร้างในประเทศไทย กล่าวถึงพระกริ่งนอกที่มีค่านิยมสูงนอกจากพระกริ่ง ชุด “เทียมตึ้งโงโจ้ว” ยังมีพระกริ่งนอกอีกหนึ่งพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเช่นกัน นั่นคือ “พระกริ่งเขมร” หรือ “พระกริ่งหน้าตั๊กแตน” มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และมีประสบการณ์ปรากฏเป็นที่เล่าขานกันมาแต่โบราณ ทั้งคงกระพันชาตรี มหาอุตม์ แคล้วคลาด นิรันตราย และเมตตามหานิยม ทำให้เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหากันอย่างสูง ปัจจุบันหาดูหาเช่าได้ยากยิ่ง และวันนี้ สายมู.com จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพระกริ่งชนิดนี้กัน ไปติดตามกันได้เลย
พระกริ่งเขมรหรือพระกริ่งหน้าตั๊กแตนกับประวัติไม่ชัดเจน
พระกริ่งหน้าตั๊กแตนหรือพระกริ่งเขมร ไม่ได้หมายความว่า แตกกรุหรือพบในเมืองใดเมืองหนึ่งของประเทศเขมร ซึ่งไม่มีหลักฐานใด ๆ บันทึกไว้เลยว่า แตกกรุที่เขมร เป็นการเรียกตามศิลปะที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับของเขมรเท่านั้น เป็นการเรียกตามคนเล่นพระสมัยโบราณเรียกต่อ ๆ กันมา เท่าที่สันนิษฐานเข้าใจว่าสถานที่พบพระกริ่งและพระอุปคุต น่าจะพบในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเขมรเช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ กรรมวิธีการสร้างที่แตกต่างไปจาก พระกริ่งของไทย จีน และทิเบต โดยสิ้นเชิง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าพระกริ่งอื่น ๆ คือ แต่ละองค์จะมีลักษณะไม่ซ้ำกันเลย เพราะปั้นพิมพ์ทีละองค์
เป็นพระกริ่งที่มีไหลเวียนในตลาดและพบน้อยมาก ปีหนึ่ง ๆ จะมีเป็นข่าวเช่าซื้อในวงการ 1-2 องค์เท่านั้น อีกทั้งมีราคาแพงเป็นที่หวงแหนของผู้ครอบครอง ทำให้การศึกษาไม่กว้างขวาง คนส่วนใหญ่จะศึกษาจากรูปในหนังสือเท่านั้น ส่วนการทำปลอมนั้น ฝีมือยังไม่เข้าขั้น การหาองค์จริงเพื่อมาถอดพิมพ์นั้น เป็นเรื่องยาก แม้ว่าพระกริ่งหน้าตั๊กแตนจะมากด้วยพุทธคุณและราคา แต่เมื่อถามถึงประวัติความเป็นมาแล้วกลับตรงกันข้ามคือ ไม่มีประวัติที่มาของสถานที่พบ ผู้สร้าง ประวัติที่มีอยู่เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น หากจะเรียงตามลำดับราคาค่านิยมและการเสาะหายากง่ายได้ ดังนี้
1. พระกริ่งหน้าตั๊กแตนบัวฟองมัน สวยสมบูรณ์ ราคาประมาณ 4-3 แสนบาท
2. พระกริ่งหน้าตั๊กแตนบัวตุ่ม ราคาประมาณ 3-5 แสนบาท
3. พระกริ่งหน้าตั๊กแตนบัวฟันปลา ราคาประมาณ 2-4 แสนบาท
รูปแบบพิมพ์ พระกริ่งหน้าตั๊กแตน
1. พิมพ์บัวตุ่ม บัวที่ฐานด้านหน้า แทนที่จะเป็น “บัวฟองมัน” กลับเป็นตุ่มกลมเล็กๆ เรียงรายตั้งแต่ 7-9 เม็ด เรียกว่า “บัวตุ่ม”
2. พิมพ์บัวย้อย หมายถึง บัวตุ่มเม็ดริมทั้งสองข้างจะมีบัวตุ่มอีกดอกหนึ่งห้อยย้อยลงมาเพิ่มเติม
3. พิมพ์บัวฟองมัน มีเอกลักษณ์คือ ที่ฐานบัวด้านหน้าจะพบบัวฟองมันปรากฏอยู่ ส่วนทางด้านหลังอาจเป็นบัวขีด หรือบัวฟันปลาผสมอยู่ก็เป็นได้
4. พิมพ์บัวเม็ดมะยม จะเหมือนกับ “พิมพ์บัวตุ่ม บัวย้อย” ทุกประการ แต่ที่เม็ดบัวตุ่มและบัวย้อย จะมีรอยบากลึกเป็นรูปกากบาททุกดอก ส่วนด้านหลังอาจเป็นบัวฟันปลา บัวขีด หรือบัวประเภทอื่นก็ได้
5. พิมพ์บัวขีด ฐานด้านหน้าจะไม่ปรากฏเป็นรูปดอกบัว หากแต่จะเป็นรอยขีดเป็นเส้นลึกลงไปในเนื้อ ลักษณะของการขีดเป็นเส้นทแยงขึ้นลงสลับไปมารอบอาสนะ
6. พิมพ์บัวฟันปลา เป็นพิมพ์ที่นิยมสร้างกันมากและพบมากกว่าพิมพ์อื่น ๆ มีจุดสังเกต คือ จะมีรูปสามเหลี่ยมเหมือนฟันปลาเรียงรอบฐาน ซึ่งมีทั้งแบบบัวสองชั้นและบัวชั้นเดียว