บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์แห่งความศรัทธาที่พยายามต่อสู้กับวิทยาศาสตร์ 

by saimu
0 comment
บั้งไฟพญานาค

หลังจากโลกของเราได้มีวิทยาการและเทคโนโลยีมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีความศรัทธาหลายอย่างที่เสื่อมความนิยมไป เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง แต่บั้งไฟพญานาคซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ยังคงเป็นปรากฏการณ์แห่งความศรัทธา ที่พยายามสู้กับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด 

ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น ได้กลายมาเป็นงานเทศกาลที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับคนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ศรัทธาเดินทางมารับชม เพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวเองในทุก ๆ ปี เรารู้จักกับปรากฏการณ์ดังกล่าวในฐานะของ ปรากฏการณ์ที่มีลูกไฟพุ่งขึ้นมาจากกลางแม่น้ำโขง ที่สามารถมองเห็นได้ในจังหวัดภาคอีสานอย่างเช่นหนองคายและบึงกาฬ ซึ่งจะเกิดขึ้นตรงกันในทุกปีนั่นก็คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือวันออกพรรษาในทุก ๆ ปี วันนี้ สายมู.com จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ดังกล่าวให้มากขึ้น ไปติดตามกันได้เลย 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค อภินิหารลูกไฟในแม่น้ำโขง 

บั้งไฟพญานาค

วันออกพรรษาในทุก ๆ จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เราจะคุ้นชินกับประชาชนจำนวนมากที่เดินทางมาบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อรับชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค สำหรับใครที่ไม่เคยรู้จักปรากฏการณ์ดังกล่าวมาก่อนนั้น ในอดีตมีความเชื่อว่ามันเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ที่มีลูกไฟลอยขึ้นมาจากแม่น้ำโขงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและหายไป ซึ่งจะมีจำนวนที่แตกต่างกันในแต่ละปี มีความเชื่อกันว่าลูกไฟที่เห็นนั้น เป็นลูกไฟที่พญานาคพ่นออกมาในวันออกพรรษา ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากต่างพากันเดินทางไปรับชม เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง และมันยังช่วยเสริมศรัทธาให้แรงกล้ามากขึ้นอีกด้วย แต่ทราบหรือไม่ว่าในความจริงแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เป็นประจำทุกปีแต่อย่างใด เพราะปีไหนที่มีเดือน 8 อยู่ 2 ครั้ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเลื่อนไปเกิดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของฝั่งประเทศลาวแทน 

บั้งไฟพญานาค

สำหรับใครที่อยากจะรับชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค สามารถเดินทางไปรับชมได้ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคายหรือจังหวัดบึงกาฬก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปชมปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ต่ำกว่าแสนคน ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นนับร้อยล้านบาทเลยทีเดียว จนมันกลายเป็นงานเทศกาลที่มีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ปี และในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาคำตอบให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะหากเกิดจากการยิ่งพลุ ก็ไม่มีทั้งเสียง ไร้ควัน ไร้กลิ่น แถมยังพุ่งขึ้นมาจากกลางลำน้ำโขงอีกด้วย และก็ยังมีหลากหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กเท่ากับนิ้วไปจนถึงขนาดเท่ากับไข่ไก่ ซึ่งจะพุ่งขึ้นสูงเหนือแม่น้ำโขงตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึง 30 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที ก่อนจะหายไปโดยที่ไม่ตกลงมา ตามตำนานความเชื่อนั้นกล่าวเอาไว้ว่า พญานาคที่อยู่อาศัยภายในเมืองบาดาลนั้น เป็นสัตว์วิเศษที่มีนิสัยดุร้ายแถมยังมีพิษร้ายแรงอีกด้วย ในสมัยพุทธกาลมีพญานาคตนหนึ่งได้นั่งฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ทำให้นิสัยดุร้ายหายไปและแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อขอบวชเป็นพระ 

บั้งไฟพญานาค

แต่เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ ทำให้พญานาครู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก จึงขอถวายชื่อของตนเองเอาไว้ใช้เรียกคนที่จะขอมาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของตนเอง และยังปวารณาตนเป็นพุทธมามกะตลอดไปอีกด้วย ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสวรรค์ดาวดึงส์เพื่อไปโปรดพุทธมารดาจนครบพรรษา เมื่อกลับมาในโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 บรรดาพญานาคจึงทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟออกมาเพื่อถวายแก่พระพุทธเจ้า กลายเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาจนถึงในปัจจุบันว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น เกิดจากพญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลแถบแม่น้ำโขง ยังคงพ่นบั้งไฟออกมาเพื่อถวายให้กับพระพุทธเจ้านั่นเอง ในฝั่งของประเทศลาวเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยว่ากันว่าแม่น้ำโขงนั้นเกิดจากการเดินทางของพญานาคตนหนึ่ง ที่เลื้อยเจอภูเขาหรือก้อนหินก็จะหลบหลีก ผิดกับพญานาคตัวอื่นที่จะเลื้อยผ่านไปเลย ทำให้เส้นทางการเดินของพญานาคตนนี้คดเคี้ยวไปมา จึงมีการเรียกลำน้ำแห่งนี้ว่า ลำน้ำคด ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นคำว่าลำน้ำโขงในปัจจุบัน 

รู้หรือไม่ บั้งไฟพญานาคมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

บั้งไฟพญานาค

บั้งไฟพญานาค นั้นเป็นเรื่องราวความเชื่อความศรัทธาของชาวพุทธที่มองว่า เป็นปรากฏการณ์ที่พญานาคพ่นบั้งไฟออกมาเพื่อถวายให้กับพระพุทธเจ้าในทุก ๆ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 แต่ความเป็นจริงแล้วความเชื่อดังกล่าวนั้นกลับมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนเป็นกิจจะลักษณะ แต่ก็เป็นสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด โดยกล่าวกันว่าลูกไฟที่เราเห็นลอยขึ้นมาจากกลางแม่น้ำโขงนั้น เกิดจากก๊าซไนโตรเจนและมีเทนซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากแบคทีเรียที่อยู่ลึกลงไปในลำน้ำโขงตั้งแต่ 4.5 เมตร ไปจนถึง 13.4 เมตร และอุณหภูมิไม่ต่ำไปกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนจะน้อยลง ในวันที่มีปรากฏการณ์ตั้งแต่ช่วง 10:00 น. 13:00 น. และ 16:00 น. เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 26 องศาเซลเซียส ทำให้มีความร้อนสะสมมากพอในการย่อยสลายสารอินทรีย์ จะเกิดการหมักก๊าซมีเทนขึ้นเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง เมื่อมากพอก็จะเกิดความดันในผิวทรายและก๊าซก็จะหลุดออกมา หลังจากนั้นก็จะพุ่งขึ้นเหนือน้ำเป็นฟองก๊าซลอยขึ้นไปบนอากาศ ในขณะที่น้ำบางส่วนนั้นก็จะฟุ้งกระจายออกเป็นวงกว้าง โดยแกนในของก๊าซที่พุ่งออกมานั้นจะมีขนาดประมาณหัวแม่มือ เมื่อพุ่งขึ้นกระทบกับออกซิเจนและมีอุณหภูมิต่ำลงในช่วงเวลากลางคืน ทำให้สามารถเกิดการสันดาปได้อย่างง่ายดายและติดไฟจนกลายเป็นลูกไฟที่เราเห็นในที่สุด

You may also like

Leave a Comment