หนึ่งใน Unseen In Thailand ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติปักหมุดให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่ที่ต้องมาเยือนให้ได้ก็คือ เศียรพระในต้นไม้ วัดมหาธาตุ ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะเป็นเพียงแค่โบราณสถานที่ไม่ได้มีศาสนถานและพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ แต่ก็มีผู้คนแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมความงามและศึกษาประวัติศาสตร์กันเป็นจำนวนมาก วัดแห่งนี้จะมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรกับประเทศไทยของเรา วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัดเก่าแก่โบราณแห่งนี้กัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
วัดมหาธาตุ วัดสมัยอยุธยาที่เต็มไปด้วยมนต์ขลัง
วัดมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วม 600 ปี ปัจจุบันถึงแม้ว่าในปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จะเหลือเพียงแค่โครงสร้าง จากการถูกเผาทำลายในช่วงของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่มันก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการได้เป็นอย่างดี ทำให้เราจินตนาการได้เลยว่า ในยุครุ่งเรืองของวัดแห่งนี้จะมีความสวยงามมากแค่ไหน
วัดเก่าแก่โบราณแห่งนี้ ตั้งอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอยุธยา หากใครต้องการเดินทางมายังวัดมหาธาตุแห่งนี้ ให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากนั้นมุ่งหน้าไปยังสี่แยกไฟแดงที่ 2 เลี้ยวขวาผ่านบึงพระราม วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ
ประวัติความเป็นมาของวัดมหาธาตุ ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1917
วัดมหาธาตุ ก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขุนหลวงพระงั่วหรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ในปี พ.ศ. 1917 แต่ไม่แล้วเสร็จในสมัยนั้น เนื่องจากขุนหลวงสวรรคตไปเสียก่อน หลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนแล้วเสร็จในสมัยของสมเด็จพระราเมศวร
นอกจากนี้ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธานขึ้นมาเพิ่มเติม โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานภายใน ในปี พ.ศ. 1927 หรือ 10 ปีหลังจากที่มีการเริ่มก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกระบุเอาไว้ในพระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขา
ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม วัดมหาธาตุก็เกิดการเสียหายจากเหตุการณ์ยอดพระปรางค์เก่าจากศิลาแลงพังทลายลงมาถึงครึ่งองค์ และยังไม่ได้รับการซ่อมแซมในช่วงนั้นจนเข้าสู่สมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปี พ.ศ. 2176 จึงได้มีการบูรณะพระปรางค์ใหม่ให้มีความสูงกว่า 25 วา
น่าเสียดายที่นับตั้งแต่ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หรือในปี พ.ศ. 2275 จนถึงปี พ.ศ. 2301 หรือช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดมหาธาตุก็ถูกเผาทำลายจนเหลือเพียงแค่เศษซากและถูกทิ้งร้างตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา
รวมสิ่งที่น่าสนใจเมื่อไปในวัดมหาธาตุ
สำหรับใครที่อยากเดินทางไปท่องเที่ยววัดมหาธาตุ เราขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่าวัดดังกล่าวในปัจจุบันมีสถานะเป็นโบราณสถาน มากกว่าการเป็นวัดที่เป็นพุทธสถาน ให้ผู้คนจะเข้าไปประกอบพิธีกรรมและกราบไหว้ขอพรตามความเชื่อ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เราอยากจะแนะนำให้ทุกคน ได้ลองเข้าไปสัมผัสความงดงามด้วยตาของตัวเองอยู่ดี และจะมีจุดไหนบ้างที่คุณไม่ควรพลาด ไปดูกันเลย
- พระปรางค์ประธาน ถึงจะไม่ใช่สิ่งที่หลายคนเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชม และในปัจจุบันโครงสร้างส่วนใหญ่ก็พังทลายจนเกือบหมดแล้ว แต่มันก็ยังคงความสวยงามเอาไว้ได้เป็นอย่างดี บริเวณฐานจะประกอบไปด้วยรูปของสิงสาราสัตว์อย่างเช่น นกยูง สุนัขป่า มังกร หมี หรือกินนร คาดว่าน่าจะถูกจำลองขึ้นมาจากสัตว์ป่าหิมพานต์ที่รายล้อมทั่วเชิงเขาพระสุเมรุ
- ตำหนักพระสังฆราช ปัจจุบันตำหนักพระสังฆราชนั้นไม่เหลือสภาพของสิ่งปลูกสร้างแล้ว ซึ่งจะเป็นเพียงพื้นที่ว่างฝั่งตะวันตก ให้ได้เห็นภาพว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยใช้เป็นตำหนักพระสังฆราช มีบันทึกของทูตศรีลังการะบุว่า ตำหนักดังกล่าวมีการสลักลวดลายและลงรักปิดทองหรูหรา ม่านถูกปักด้วยด้ายทอง พื้นถูกปูด้วยพรม ตกแต่งด้วยแจกันปักดอกไม้ แขวนโคมให้แสงสว่าง และมีบัลลังก์ถึง 2 ที่นั่ง
- เศียรพระพุทธรูปที่มีรากไม้ปกคลุม เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์เด็ดของวัดมหาธาตุก็ว่าได้ จุดดังกล่าวจะเป็นบริเวณให้ต้นโพธิ์ ที่มีเศียรพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นมาจากหินทราย โดยรากของต้นโพธิ์ปกคลุมอยู่เกือบทั้งหมด ถูกสร้างขึ้นมาด้วยสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา คาดว่าในอดีตหลังจากที่ถูกตัดเศียรแล้วคงถูกนำเอามาวางไว้บนพื้นใกล้กับต้นโพธิ์ เมื่อเวลาผ่านไปต้นโพธิ์ยังคงอยู่ที่เดิมและเติบโต รากจึงเข้าปกคลุมทั่วทั้งเศียรของพระพุทธรูปนั่นเอง
- วิหารฐานชุกชี เป็นวิหารของพระประธานที่กรมศิลปากรมาพบในภายหลังว่า เคยมีคนลักลอบขุดลึกลงไปกว่า 2 เมตร ด้วยเหตุนี้ทางหน่วยงานจึงขุดต่อลงไปอีก 2 เมตรและได้พบกับโบราณวัตถุมากมาย ทั้งแผ่นทอง เครื่องปั้นดินเผา และรูปต่าง ๆ
- พระปรางค์ เป็นพระปรางค์ขนาดกลางที่โดดเด่นด้วยงานภาพจิตรกรรมเรือนแก้ว บอกเล่าเรื่องราวในช่วงหนึ่งของพุทธประวัติ
- เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ที่มีความสูงถึง 4 ชั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยรูปทรงแปดเหลี่ยม ด้านบนสุดเป็นที่ประดิษฐานของพระปรางค์ขนาดเล็ก หากเทียบกับพุทธศิลปะในสมัยปัจจุบัน ถือว่าเป็นรูปแบบการสร้างที่ดูแปลกตาไม่น้อยเลยทีเดียว และยังเป็นเจดีย์เดียวในอยุธยาที่ถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะดังกล่าวอีกด้วย
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com