ศาสนาพุทธของเรานั้นเต็มไปด้วยวันที่มีความสำคัญมากมาย อย่างเช่นวันวิสาขบูชาที่เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีวันสำคัญปลีกย่อยอีกมากมายอย่างเช่น วันธรรมสวนะ หรือ วันพระ ซึ่งเป็นวันที่อ้างอิงจากปฏิทินจันทรคติ ดังนั้นหากเราอยากรู้ว่าวันไหนเป็นวันพระ เราจะต้องดูข้างขึ้นข้างแรมประกอบ ซึ่งถือว่ายุ่งยากและสร้างความน่าสับสนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญมันยังมีบ่อยเสียเหลือเกินอีกต่างหาก ในวันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่า วันธรรมสวนะ แท้จริงแล้วคือวันอะไรและมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักวันธรรมสวนะ วันสำคัญของศาสนาพุทธตามปฏิทินจันทรคติ
วันธรรมสวนะ มีอีกชื่อเล่นที่เราคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดีว่า วันพระ บ้างก็เรียกว่า วันอุโบสถ เป็นวันที่เหล่าชาวพุทธจะเดินทางมาประชุมกัน เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะคำว่าธรรมสวนะนั้นมีความหมายถึงการฟังธรรมนั่นเอง
วันเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นตามปฏิทินจันทรคติ ดังนั้นหากปฏิทินของคุณไม่ได้บอกจันทรคติก็ยากที่จะทราบได้ว่าวันไหนเป็นวันพระ แต่โดยรวมแล้วใน 1 เดือนจะมีทั้งหมด 4 วัน ประกอบไปด้วยวันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ หากเดือนไหนเป็นเดือนขาดไม่มีวันแรม 15 ค่ำ ก็จะใช้เป็นวันแรม 14 ค่ำแทน
ในอดีตหลายประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก เคยให้วันพระเป็นวันหยุดราชการด้วย แต่สุดท้ายก็ยกเลิกไป เนื่องจากปฏิทินจันทรคติไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ผู้คนใช้กันโดยทั่วไป ทำให้หลายครั้งวันธรรมสวนะไปตรงกับวันทำงานตามปกติ แถมยังมีถึงเดือนละ 4 ครั้ง จึงไม่สามารถประกาศให้เป็นวันหยุดได้เหมือนกับในอดีต
เปิดความเป็นมาของวันธรรมสวนะ เพราะเหตุใดจึงต้องมีวันประชุมของเหล่าชาวพุทธ
ความจริงแล้ววันธรรมสวนะไม่ใช่วันที่มาจากศาสนาพุทธโดยแท้แต่อย่างใด แต่เกิดจากนักบวชนอกศาสนาที่เรียกขานกันว่า ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ท่านจะมีการเรียกเหล่าสาวกมาประชุมกันเพื่อแสดงธรรมในทุกวัน 8 ค่ำและวัน 15 ค่ำ
ดังนั้นหากย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลช่วงต้น พระพุทธเจ้าไม่ได้มีการวางระเบียบเกี่ยวกับวันสำคัญดังกล่าวเอาไว้ จนกระทั่งต่อมาพระเจ้าพิมพิสารก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า นักบวชในศาสนาอื่นมีการประชุมศาสนาเพื่อเผยแพร่หลักธรรมคำสอน แต่พระพุทธศาสนาของเรานั้นไม่มีแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงจัดให้มีการประชุมของพระสงฆ์ขึ้นในวัน 8 ค่ำและวัน 15 ค่ำ เพื่อสนทนาธรรมและแสดงธรรมให้กับประชาชน ชาวพุทธจึงได้ถือเอาวันดังกล่าวมาเป็นวันพระนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน
ในปัจจุบันธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับวันธรรมสวนะนั้น เหลืออยู่เฉพาะประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท อย่างเช่นในประเทศไทยของเรา เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และศรีลังกาเป็นต้น พุทธศาสนิกชนจะรวมตัวกันเพื่อไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม คนที่เคร่งศาสนาก็อาจจะมีการถือศีลภาวนาด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า ในวันพระเช่นนี้ไม่ควรประพฤติผิดบาปใด ๆ และในประเทศไทยของเราจะเรียกวัน 14 ค่ำว่า วันโกน เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ที่อยู่ในประเทศไทยจะมีการโกนผมกันในวันนี้ และยังมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์อีกด้วยว่า วันโกนคือวันที่ภูตผีปีศาจจะขึ้นมาจากนรกเพื่อขอส่วนบุญ
ความสำคัญของการมีวันธรรมสวนะ วันที่ชาวพุทธจะได้มารวมตัวกัน
วันธรรมสวนะ ถือว่าเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถึงแม้ว่ามันจะมีบ่อยครั้งก็ตาม ผู้คนมักถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการทำบุญหรือการเริ่มต้นใหม่ นอกจากนี้วันพระยังมีความสำคัญนอกเหนือจากการที่ชาวพุทธจะได้มารวมตัวกันเพื่อทำบุญและฟังธรรมอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธรวมไปถึงพระสงฆ์ เนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติที่พระสงฆ์จะต้องทบทวนและเตือนตนเองด้วยการแสดงความยอมรับถึงสิ่งที่ตนละเมิด ด้วยการแสดงอาบัติและแก้ไขตนเองต่อไป
มีหลักฐานปรากฏอย่างเด่นชัดเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีในกลุ่มพระสงฆ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลที่ถูกระบุเอาไว้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระภิกษุจากเมืองโกสัมพีได้ทะเลาะเบาะแว้งกันเองจนแตกความสามัคคีภายใน ต่อมาในภายหลังกลับมาพูดคุยกันและเกิดความสามัคคีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
พระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้มีการประชุมเพื่อทำอุโบสถสวดพระปาติโมกข์ในกรณีพิเศษ ทำให้วันวันธรรมสวนะถูกเรียกในอีกชื่อว่า วันสามัคคีอุโบสถ
นอกจากนี้ยังเป็นการหมั่นทบทวนพระธรรมคำสอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน เลือนหายไปตามกาลเวลา และก่อให้เกิดความจรรโลงในศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคตภายภาคหน้า ไม่เพียงเท่านั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่าพิธีกรรมวันธรรมสวนะ
เป็นการกำหนดประชุมฟังธรรมที่พิธีจะเริ่มในตอนเช้า 9:00 น. เหล่าพระภิกษุสามเณร อุบาสกและอุบาสิกา จะมาประชุมร่วมกันในสถานที่แสดงธรรม หลังจากนั้นก็จะเริ่มการทำวัตรเช้า หลังจากทำวัตรจบอุบาสกอุบาสิกาก็จะทำวัตรตามบทและเริ่มพิธีรักษาอุโบสถ
เสร็จสิ้นพิธีทำวัตรก็จะมีการประกาศอุโบสถและอาราธนาศีลพร้อมกัน เมื่อรับศีลเรียบร้อยแล้วก็จะมีการแสดงธรรม เมื่อเสร็จสิ้นหัวหน้าก็จะนำกล่าวสาธุกันในพิธีรักษาอุโบสถ เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนประชุมฟังธรรมในตอนเช้า
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com