วันวิสาขบูชา วันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในศาสนาพุทธถึง 3 เหตุการณ์ 

by saimu
0 comment
วันวิสาขบูชา

ศาสนาพุทธของเรานั้นเป็นศาสนาที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย และวันเหล่านั้นก็กลายมาเป็นวันที่มีความสำคัญในศาสนาพุทธในภายหลัง อย่างเช่น วันวิสาขบูชา วันที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นถึง 3 เหตุการณ์เลยทีเดียว เหตุการณ์เหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน ไปติดตามกันได้เลย 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับวันวิสาขบูชา เพราะเหตุใดมันจึงกลายมาเป็นวันที่มีความสำคัญในศาสนาพุทธ 

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในศาสนาพุทธที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือมันเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน ต่างกันเพียงแค่ปีเท่านั้น 

นอกจากจะสำคัญต่อพระพุทธศาสนาของเราแล้ว องค์การสหประชาชาติยังกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญของโลกอีกด้วย เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณประโยชน์ของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ 

โดยหลักธรรมจะเน้นไปยังขันติธรรมและเมตตาธรรมเพื่อให้เกิดสันติสุข ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับทางองค์การสหประชาชาติ โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ในทุกปี 

เปิดความสำคัญของวันวิสาขบูชาในศาสนาพุทธ 

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากอย่างที่เราได้กล่าวไปแล้ว เพราะเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลอันใหญ่หลวงต่อพระพุทธศาสนาของเรา ไม่ว่าจะเป็น 

  1. การประสูติ เมื่อแรกเกิดพระพุทธเจ้าคือเจ้าชายสิทธัตถะที่ถือประสูติขึ้นมาในเช้าวันศุกร์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 80 ปีก่อนพุทธศักราช ถือประสูติขึ้นมาในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างทางจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปยังเทวทหะ ในปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศเนปาล และได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  2. การตรัสรู้ หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชและละทิ้งชีวิตเจ้าชายที่สุขสบาย พระองค์ท่านก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหลังจากมีพระชนมายุครบ 35 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ออกเดินทางยาวนานถึง 6 ปีเลยทีเดียว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นใต้ร่มไม้ของต้นศรีมหาโพธิ์ ไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตั้งอยู่ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 45 ปีก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวถูกเรียกว่าพุทธคยา ตั้งอยู่ในเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ด้วยความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวทำให้องค์กรยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
  3. ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในช่วงใกล้รุ่งของวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 6 1 ปีก่อนพุทธศักราช ขณะที่มีพระชนมายุ 80 พรรษา ในสาลวโนทยาน ตั้งอยู่ในเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้น 7 วันก็ได้มีการถวายพระเพลิงในวันแรม 8 ค่ำเดือน 6 มีชื่อเรียกว่า วันอัฐมีบูชา 

เปิดหลักธรรมที่ยึดโยงกับวันวิสาขบูชา 

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาไม่ได้เป็นเพียงแค่วันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมามากมาย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้ยึดถือปฏิบัติในการดำรงชีวิต โดยประกอบไปด้วย 

อริยสัจ 4 

เป็นหลักธรรมที่นำพาสู่การดับทุกข์ เรียกได้ว่าเป็นหลักธรรมใหญ่ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นอย่างแรก มันคือความจริงอันประเสริฐที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีการผันแปร มีทั้งหมด 4 ประการ ประกอบไปด้วย 

  • ทุกข์ เป็นสภาพที่มนุษย์ทนได้ยาก เกิดความรู้สึกไม่สบายทั้งกายและใจ 
  • สมุทัย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ 
  • นิโรธ เป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ 
  • มรรค เป็นข้อปฏิบัติที่พาให้เราดับทุกข์ได้ หรือเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความต้องการ 

ความกตัญญู 

เป็นการรู้อุปการคุณที่คนอื่นได้ทำเอาไว้ก่อนหน้าหรือทำให้เรา เป็นคุณธรรมที่อยู่คู่กับความกตเวทีซึ่งมีความหมายถึงการตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นเคยทำไว้กับเรา พูดง่าย ๆ ก็คือความกตัญญูกตเวทีคือการที่เราได้รับรู้ถึงอุปการคุณที่เคยได้รับและมีการตอบแทนอุปการคุณนั้นแก่ผู้ที่เคยมอบให้เรา

ความไม่ประมาท 

คือการมีสติไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ทั้งความคิด การพูด การแสดงออก อิริยาบถทั้ง 4 ประกอบไปด้วยการนั่ง การยืน การเดิน รวมไปถึงการนอน เพราะการมีสติจะช่วยให้เราได้รู้ถึงความเป็นอยู่ในช่วงปัจจุบัน ได้รู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้น การฝึกตนให้มีสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะจิตจึงนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ 

รวมกิจกรรมที่นิยมทำกันในวันวิสาขบูชา 

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญในศาสนาพุทธ ประกอบกับการที่ประเทศไทยของเรานั้นนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก วันดังกล่าวจึงถูกจัดให้เป็นวันหยุดราชการเช่นเดียวกับในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า บังกลาเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางศาสนาเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า รวมไปถึงพระธรรมพระสงฆ์ โดยกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจะประกอบไปด้วย การตื่นเช้าขึ้นมาตักบาตรทำบุญ หลังจากนั้นก็นำเอาอาหารคาวหวานไปถวายที่วัดก่อนจะนั่งฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล 

จากนั้นก็ร่วมพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เดินเวียนขวา 3 รอบเพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หลังจากนั้นนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะบูชาพระธาตุเจดีย์หรือสักการะบูชาพระพุทธรูปก็เป็นอันเสร็จสิ้น 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment