ศาสนาพุทธของเรานั้นมีวันสำคัญทางศาสนาอยู่มากมายเลยทีเดียว อย่างเช่น วันเข้าพรรษา ที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันคือวันอะไรและมีความสำคัญกับศาสนาพุทธอย่างไร นั่นก็เป็นเพราะว่าในปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับศาสนาน้อยลงไปทุกที ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแก่นแท้ของศาสนาพุทธนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงสามารถนำเอามาปรับใช้ได้อยู่ดี และในวันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่า วันเข้าพรรษาคือวันอะไรและมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับวันเข้าพรรษาและข้อยกเว้น
วันเข้าพรรษา เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงที่พระภิกษุสงฆ์หรือนักบวช จะต้องอธิษฐานอยู่ประจำที่ ไม่มีการเดินทางไปค้างแรมที่ไหน ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุจำเป็นอย่างแท้จริง
โดยพระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่ประจำที่เป็นระยะเวลาถึง 3 เดือนตลอดช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งการอยู่วัดของพระในช่วงเวลานี้จะเรียกว่า การจำพรรษา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะประกอบไปด้วย
1.พรรษาแรกหรือปุริมพรรษา เป็นช่วงเวลานับตั้งแต่เริ่มต้นวันแรม 1 เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือหากปีไหนมีเดือน 8 2 ครั้ง ก็ให้เลื่อนการเริ่มจำพรรษาไปในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลังแทน
2.พรรษาหลังหรือปัจฉิมพรรษา เป็นวันที่พระจะต้องจำพรรษาตั้งแต่ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
สำหรับพระภิกษุในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีการจำพรรษาในช่วงพรรษาแรกหรือปุริมพรรษามากกว่า ยกเว้นเสียแต่ว่าพระภิกษุรูปนั้น ๆ มีความจำเป็นหรืออาพาธ จึงจะสามารถอธิษฐานขอจำพรรษาในช่วงปัจฉิมพรรษาหรือพรรษาหลังได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีช่วงระยะเวลาการจำพรรษาออกเป็น 2 ระยะนั่นเอง
ถึงแม้ว่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว จะกำหนดให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่เฉพาะในวัดเท่านั้น แต่ในหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับวันเข้าพรรษา ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ระบุเอาไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น พระพุทธเจ้าก็ได้อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถไปค้างคืนที่อื่นได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน เช่นเดียวกัน โดยการออกนอกวัดในครั้งนี้ไม่นับเป็นอาบัติ ถือว่าเป็นเหตุพิเศษหรือที่มีชื่อเรียกว่า สัตตาหกรณียกิจ มีทั้งหมด 4 ข้อประกอบไปด้วย
1.ผู้มีธรรมร่วมกันทั้ง 5 ประกอบไปด้วย พระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุณี สิกขานามา ซึ่งเป็นสามเณรีหรือหญิงผู้กำลังศึกษาที่มีอายุ 18 ปี อีก 2 ปี จะสามารถบวชเป็นพระภิกษุณีได้ สามเณร สามเณรี บิดาหรือมารดาป่วย สามารถเดินทางออกนอกวัดเพื่อไปพยาบาลดูแลได้
2.เดินทางไปยับยั้งผู้มีธรรมร่วมกันทั้ง 5 ที่ต้องการจะสึก ให้เปลี่ยนใจไม่สึกแทน
3.ไปประกอบกิจของสงฆ์อย่างเช่น การหาอุปกรณ์ในการซ่อมวิหารที่ชำรุด
4.ไปฉลองศรัทธาทายกที่ผู้คนส่งตัวแทนมานิมนต์ให้ไปบำเพ็ญบุญกุศล
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีข้อยกเว้นอื่นในกรณีที่พระภิกษุประสบเหตุในช่วงจำพรรษา แต่สามารถหลีกเลี่ยงไปจำพรรษาที่อื่นได้โดยที่ไม่อาบัติ อย่างเช่น การถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียนหรือรบกวน การถูกสัตว์มีพิษขบกัด การถูกโจรปล้น ทุบตี การถูกปีศาจรบกวน ฆ่า หรือ เข้าสิง ชาวบ้านที่อุปถัมภ์ไม่สามารถอุปถัมภ์ต่อได้เนื่องจากการย้ายถิ่น ภัยพิบัติอย่างเช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ มีคนทำร้าย ก็สามารถไปอยู่ที่อื่นได้โดยไม่ผิดแต่อย่างใด
เปิดประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษานั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งที่พระพุทธเจ้าเดินทางไปประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันในเมืองราชคฤษ์ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพระภิกษุก็ต้องอยู่ประจำที่เหมือนกับเหล่านักบวชนอกศาสนา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลแล้ว
แต่ก็มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งได้นำพาบริวารจำนวนกว่า 1,500 รูป ออกเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ เนื่องจากในช่วงต้นพุทธกาลยังไม่มีการบังคับให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาแต่อย่างใด เหล่าชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนก็ติเตียนกับการเดินทางในครั้งนี้
เนื่องจากเหล่าพระภิกษุไปเหยียบต้นกล้าข้าวในนาจนก่อให้เกิดความเสียหาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบความจึงมีการรับสั่งให้ประชุมกันและตรัสถามจนรู้ความจริง จากนั้นจึงมีการบัญญัติให้เหล่าพระภิกษุต้องจำพรรษาในช่วงฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือน
กิจกรรมที่ชาวพุทธจะรวมตัวกันปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
ใน วันเข้าพรรษา ก็มีประเพณีที่ชาวพุทธมักรวมตัวกันเพื่อปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าวัดทำบุญเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่นางวิสาขา มหาอุบาสิกา อยากจะนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารที่บ้าน จึงได้สั่งให้หญิงรับใช้ไปยังพระวิหารเชตวันเพื่อทำการนิมนต์พระ
แต่เมื่อไปถึงกลับพบกับพระภิกษุอาบน้ำฝนแบบเปลือยกายอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงกลับมารายงานนายว่าไม่พบกับพระแต่อย่างใด เห็นแต่เพียงชีเปลือยเท่านั้น นางวิสาขารับรู้ได้ว่าเป็นพระกำลังอาบน้ำฝนด้วยปัญญาของตน นางจึงขอถวายผ้าอาบน้ำฝนให้กับพระภิกษุนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อีกหนึ่งกิจกรรมทางศาสนาที่ได้รับความนิยมในวันเข้าพรรษาไม่แพ้กันก็คือ การแห่เทียนพรรษา นั่นเอง ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่ไฟฟ้าไม่ได้มีให้ใช้เหมือนกับในปัจจุบัน พระภิกษุต้องมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนาในช่วงเช้ามืดและตอนพลบค่ำที่ไม่มีแสงอาทิตย์
ไม่ว่าจะเป็นการบูชาพระรัตนตรัยหรือการศึกษาพระธรรมก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้แสงสว่างที่มาจากเทียนนั่นเอง ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันนำเอาเทียนมาถวาย ในช่วงต้นจะเป็นเทียนขนาดเล็กธรรมดาทั่วไป หลังจากนั้นก็จะนำเอาเทียนขนาดเล็กมามัดรวมกันจนกลายเป็นเทียนขนาดใหญ่เท่ากับลำต้นของกล้วยหรือไม้ไผ่ และมีการวิวัฒนาการมาจนถึงในปัจจุบันที่กลายเป็นเพียงพรรษาเล่มใหญ่นั่นเอง
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com