เช็งเม้ง พิธีเคารพบรรพบุรุษของชาวจีนที่เชื่อว่าทำแล้วช่วยให้โชคดีมีกุศล 

by saimu
0 comment
เช็งเม้ง

วันสำคัญในประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายวันด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญทั่วไป หรือวันสำคัญเกี่ยวกับชาติไทยของเรา หนึ่งในวันสำคัญที่เกี่ยวกับความเชื่อในการกราบไหว้บรรพบุรุษ ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้น วันเช็งเม้ง วันที่ชาวจีนทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษของต้นเป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัวและเพื่อเป็นการแสดงออกถึงว่ากตัญญูรู้คุณ วันเช็งเม้งนี้จะมีความสำคัญและมีที่มาอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกัน ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับวันเช็งเม้ง เมื่อลูกหลานมารวมตัวกันเพื่อเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ 

เช็งเม้ง

เช็งเม้ง เป็นเทศกาลสำคัญที่ทั้งชาวจีนรวมไปถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ต่างเข้าร่วมพิธีเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และมีความเชื่อว่าสามารถช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตได้อีกด้วย ลูกหลานจึงมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีไหว้ผู้ล่วงลับ 

ชื่อเรียกของวันดังกล่าวนั้นเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยคำว่า “เช็ง” มีความหมายถึงความบริสุทธิ์และความสะอาด ส่วน “เม้ง” มีความหมายถึงแสงสว่าง เมื่อนำเอาทั้งสองคำมารวมกันก็จะได้ความหมายว่า จะเป็นช่วงเวลาที่ใสสะอาดและรื่นรมย์ 

เนื่องจากในประเทศจีนวันเช็งเม้งจะอยู่ในช่วงที่ฤดูหนาวกำลังจะผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้อากาศดีและเย็นสบาย โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณวันที่ 4 เมษายนไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน แต่สำหรับในประเทศไทยช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะค่อนข้างร้อน แถมวันที่ทำพิธีก็ยังสั้นกว่าในประเทศจีนด้วย 

เพราะเราจะมีช่วงเทศกาลดังกล่าวเพียงแค่ 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 8 เมษายน ส่วนวันที่คนนิยมไหว้มากที่สุดก็คือในวันที่ 5 เมษายนของทุกปี ในบางพื้นที่ก็มีการขยับขยายช่วงเวลาให้เร็วขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้บางครอบครัวอาจเริ่มไหว้กันตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไปเลยทีเดียว 

เช็งเม้ง

ช่วงเทศกาลวันเช็งเม้ง ไม่ได้เริ่มต้นจากการเซ่นไหว้แต่อย่างใด ขั้นตอนแรกของพิธีการคือการทำความสะอาดสุสาน ลูกหลานและญาติมิตรจะมารวมตัวกันเป็นวันรวมญาติเพื่อทำความสะอาดหลุมฝังศพ มีจุดประสงค์ให้ลูกหลานได้รำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ล่วงลับและส่งอาหารรวมไปถึงของกินของใช้ให้กับบรรพบุรุษของตนเอง 

ส่วนวิธีการทำความสะอาดนั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่การปัดกวาดเช็ดถู การลงสีป้ายชื่อใหม่ การตกแต่งประดับประดาให้สวยงามอย่างเช่น การใช้กระดาษม้วนสายรุ้ง สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ห้ามถอนหญ้าโดยเด็ดขาดเพราะอาจจะไปกระทบตำแหน่งต้องห้ามได้ นอกจากนี้ยังไม่ควรปักธงลงบนบริเวณหลังเต่าอีกด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นการทิ่มแทงหรือการทำให้หลังคาบ้านที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษรั่ว 

หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการไหว้บรรพบุรุษโดยจะต้องกราบไหว้เจ้าที่ก่อน ของที่ใช้ไหว้เจ้าที่เพื่อขอบคุณที่ช่วยดูแลคุ้มครองบรรพบุรุษจะประกอบไปด้วยธูป 5 ดอกและเทียน 1 คู่ เหล้าจำนวน 5 ถ้วย น้ำชาจำนวน 5 ถ้วย ของไหว้อย่างเช่น ผลไม้หรือขนมอี๋ กระดาษเงินและกระดาษทอง 

เมื่อไหว้เจ้าที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ไหว้เพื่อระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษและผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยของที่ใช้จะประกอบไปด้วยเหล้า 3 ถ้วย น้ำชา 3 ถ้วย ของไหว้อย่างเช่น ขนมถ้วยฟู ขนมอี๋ หรือผลไม้มงคล กระดาษเงินและกระดาษทอง ธูปตามจำนวนของบรรพบุรุษโดยใช้ท่านละ 1 ดอกกับเทียน 1 คู่ 

สำหรับอาหารที่ใช้ในการไหว้จะประกอบไปด้วย หมูสามชั้น 1 ชิ้นขนาดตั้งแต่ครึ่งกิโลกรัมขึ้นไป ไก่ต้มจำนวน 1 ตัว ขนม 3 อย่างประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวกวน ขนมกู้ และเต่เหลี่ยว สับปะรด 2 ลูก ขนมถ้วยฟู และน้ำชา ผู้ที่อาวุโสที่สุดจะเป็นคนนำกราบไหว้ หลังจากที่เทียนใกล้จะหมดก้านลูกหลานจึงจะเข้ามาตีวงเพื่อเผากระดาษเงินกระดาษทองส่งให้กับบรรพบุรุษ หลังเสร็จพิธีก็จะมานั่งล้อมวงเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน 

เปิดเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันเช็งเม้งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน 

เช็งเม้ง

วันเช็งเม้งเป็นพิธีกรรมที่ลูกหลานจะได้มารำลึกถึงบรรพบุรุษและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้คนในครอบครัว เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในหมู่ญาติพี่น้อง คนในครอบครัวที่กระจัดกระจายกันไปเติบโตก็จะได้มีโอกาสมาพบปะกัน จนกลายเป็นวันรวมญาติครั้งใหญ่อีกวันหนึ่งในรอบปี และยังเป็นการเตือนสติถึงคนที่ยังอยู่ว่า ความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาและเกิดขึ้นได้กับทุกคน 

เนื่องจากประเทศไทยมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงรู้จักกับเทศกาลเช็งเม้งเป็นอย่างดี แต่ทราบหรือไม่ว่าความจริงแล้ววันเช็งเม้งถูกแยกออกมาจาก 2 เทศกาลประกอบไปด้วย เทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิและเทศกาลกินเย็น 

เช็งเม้ง

เทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลเช็งเม้ง ผู้คนเชื่อกันว่าในช่วงฤดูหนาวดวงวิญญาณจะอยู่ในภาวะจำศีล ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิเราจึงต้องปลุกวิญญาณให้ตื่นขึ้นมาและรับของไหว้ที่ลูกหลานนำเอามาให้ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบาย ทำให้ผู้คนนิยมออกเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าเป็นประเพณีที่ผู้คนจะได้ออกมาเฉลิมฉลองและระลึกถึงบรรพบุรุษร่วมกัน 

ส่วนเทศกาลกินเย็นนั้น ผู้คนจะรับประทานอาหารกันแบบเย็นโดยที่ไม่ใช้ไฟในการประกอบอาหารขึ้นมาเลยแม้แต่อย่างเดียว สาเหตุเกิดมาจากในอดีตผู้คนใช้ไฟในการทำอาหารรวมไปถึงการอบอุ่นร่างกาย ด้วยเหตุนี้ในอดีตจึงมีการจุดไฟเอาไว้กลางย่านชุมชน หากใครต้องการจะใช้ไฟก็สามารถมาต่อไฟจากกองไฟดังกล่าวได้ 

อย่างไรก็ตามชาวจีนเชื่อว่าของเก่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นการจุดไฟอยู่ตลอดเวลาจึงไม่ดีด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นในแต่ละปีจึงจะมีการดับไฟและจุดใหม่เป็นประจำ 2-3 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับวันไหว้มีอากาศดี จึงนับว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะมีพิธีการจุดไฟหรือดับไฟ ซึ่งวันที่มีพิธีดังกล่าวผู้คนจะไม่สามารถประกอบอาหารด้วยไฟหรืออุ่นอาหารได้ ดังนั้นจึงต้องรับประทานอาหารกันแบบเย็น ๆ นั่นเอง

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment