วัดไตรมิตร วัดโบราณที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยคนจีนโดยสถาปัตยกรรมไทย 

by saimu
0 comment
วัดไตรมิตร

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่มีชาวจีนจำนวนมากอพยพย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มันจึงไม่น่าแปลกใจที่วัฒนธรรมของคนทั้งสองพื้นที่จะรวมเข้าด้วยกัน อย่างวัดไตรมิตรเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างชั้นดีที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างทั้ง 2 วัฒนธรรมไทยจีน เพราะถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกจะเป็นสถาปัตยกรรมไทย แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าความจริงแล้ว วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาของชาวจีนเพียง 3 คนเท่านั้น 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

เปิดประวัติของวัดไตรมิตร วัดที่ถูกสร้างขึ้นจากความศรัทธาของชาวจีน 3 คน

วัดไตรมิตร

วัดไตรมิตรวิทยาลัยวรวิหาร เดิมทีถูกเรียกขานว่า “วัด 3 จีน” เป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์ช่วงการปกครองของรัชกาลที่ 1 สาเหตุที่เดิมทีวัดไตรมิตรถูกเรียกว่า วัด 3 จีน เป็นเพราะว่า ความจริงแล้ววัดแห่งนี้เป็นวัดจีน เพียงแต่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยงานศิลปะของประเทศไทยเท่านั้น 

ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวจีน 3 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน ประกอบไปด้วย นายเหียก, นายจุ้ย และนายซุ่น เดิมทีเป็นวัดราษฎร์ธรรมดาทั่วไป ก่อนที่จะถูกยกขึ้นเป็นวัดหลวงในช่วงรัชกาลที่ 4 และมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดไตรมิตร มาจนถึงในยุคปัจจุบัน 

ต่อมาในปี 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาติ รักษาการเจ้าอาวาสได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไตรมิตร จนกระทั่งในปี 2480 ก็มีการอนุมัติโดยมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงวัดให้ดีขึ้นกว่าเดิม เข้าสู่ปี 2482 ประชาชนทั่วไปทั้งพ่อค้า คณะครูและนักเรียน ก็ได้มาร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดดังกล่าวก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่ 

ความหมายของคำว่าไตรมิตรคือ เพื่อน 3 คน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมานั้นเอง นอกจากจะเป็นที่จำวัดของพระสงฆ์แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่เหล่าชาวพุทธจะได้มารวมตัวกันประกอบพุทธพิธี ไหว้พระทำบุญ และยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยและโรงเรียนปริยัติธรรมด้วย 

รวมสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในวัดไตรมิตร

วัดไตรมิตร

วัดไตรมิตรถือเป็นพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว จากประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และยังมีสิ่งต่าง ๆ มากมายให้เราได้เยี่ยมชมความสวยงาม สำหรับใครที่เดินทางมาถึงวัดแห่งนี้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี เราก็มีสถานที่มาแนะนำให้ทุกคนได้ลองไปเยี่ยมชมกัน ดังนี้

  • พระมหามณฑป เป็นมณฑปขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 
  • พระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย
  • พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยอยุธยา
  • หอระฆัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
  • โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ปูชนียวัตถุสำคัญในวัดไตรมิตร

วัดไตรมิตร
  • พระพุทธทศพลญาณ พระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ประชาชนมักเรียกขานพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อวัดสามจีนบ้าง หลวงพ่อโตบ้าง มักมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้บูชาและบนบานศาลกล่าวกันอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดไตรมิตรเพื่อนมัสการพระพุทธรูป และได้ตรัสยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธรักษ์ลักษณะสวยงามเป็นอย่างมาก ในอดีตหลวงพ่อโมผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสเคยทำพระเครื่องแจก โดยนำเอารูปของพระพุทธทศพลญาณมาสร้างขึ้นด้วยเนื้อชิน และได้รับความนิยมของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก
วัดไตรมิตร
  • พระสุโขทัยไตรมิตร พระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นมาจากทองคำขนาดใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกลงในกินเนสส์เวิล์ดเรคคอร์ดด้วย มีหน้าตักกว้าง 3.01 เมตร และสูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดออกมาได้ถึง 9 องค์ ถูกสร้างขึ้นมาด้วยทองคำบริสุทธิ์ 40% สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นมาในสมัยสุโขทัย เรียกได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่หากใครได้ไปเที่ยวที่วัดไตรมิตรไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด 

เปิดวิธีการเดินทางไปท่องเที่ยวที่วัดไตรมิตรด้วยการโดยสารแต่ละรูปแบบ

วัดไตรมิตร

วัดไตรมิตรเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ไม่ไกลจากหัวลำโพงมากนัก การเดินทางไปท่องเที่ยวจึงสามารถทำได้ค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากมีรถโดยสารสาธารณะหลายรูปแบบให้เราได้เลือกกัน ใครที่อยากเดินทางไปเที่ยวแต่ยังไม่รู้วิธีการเดินทาง ทุกคนสามารถเดินทางได้ด้วยวิธีการดังนี้ 

โดยรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงที่สถานีหัวลำโพง ทางออกที่ 1 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระรามที่ 4 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมิตรภาพไทย-จีน ประมาณ 170 เมตร วัดจะอยู่ทางฝั่งขวามือ

โดยรถประจำทาง

รถประจำทางสาย 4, 5, 53, 73 หรือ 507

โดยรถยนต์

รถยนต์ส่วนตัว ขับไปตามถนนพระรามที่ 4 มุ่งหน้าหัวลำโพง จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมิตรภาพไทย-จีน ตรงไปประมาณ 170 เมตร วัดจะอยู่ทางฝั่งขวามือ

เวลาเปิด-ปิด

ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment