ประเทศไทยของเราเป็นเมืองพุทธ ดังนั้นเวลามีวันที่สำคัญเกี่ยวกับศาสนาเราจึงมักจะให้ความสำคัญ ถึงขั้นจัดให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์กันเลยทีเดียว และหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาก็คือ วันมาฆบูชา วันที่ทุกคนท่องจำได้เป็นอย่างขึ้นใจว่าเป็นวันที่มีพระภิกษุจำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และนอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันมาฆบูชามากขึ้น วันนี้ในอดีตเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างก่อนกลายมาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เปิดตำนานความเป็นมาของวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าได้ออกเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาจนเวลาล่วงเลยไปถึง 9 เดือน
ช่วงนั้นมีชาวบ้านทั้งหลายให้ความสนใจและอุปสมบทเป็นพระภิกษุจำนวนไม่น้อย ทำให้ศาสนาพุทธเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนพระพุทธเจ้าก็ยังคงออกเดินทางเพื่อเผยแผ่ศาสนาจนมาถึงวัดสุกรขาตา
หลังจากแสดงธรรมเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้เสด็จมาอยู่ในวัดเวฬุวัน ในวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะหรือเดือน 3 พอดี ในช่วงบ่ายเหล่าพระอรหันต์สาวกของพุทธองค์ ได้มาประชุมรวมกันยังที่ประทับของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเหตุอัศจรรย์ที่มีองค์ประกอบ 4 ประการที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต ประกอบไปด้วย
- เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกได้เดินทางมาประชุมกันในวัดเวฬุวันวิหารจำนวนกว่า 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมาย
- พระภิกษุสงฆ์กลุ่มนี้เป็นผู้ที่รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น มีชื่อเรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา
- พระภิกษุทุกองค์ที่ได้มาร่วมประชุมกันในวันนี้ ล้วนแล้วแต่บรรลุอรหันต์แล้วทุกองค์
- เป็นวันที่พระจันทร์ขึ้นเต็มดวงและกำลังเสวยมาฆฤกษ์
สาเหตุที่เหล่าสาวกพระอรหันต์เหล่านี้ได้เดินทางมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย นั่นก็เป็นเพราะว่าวันมาฆบูชาใกล้วันพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ดั้งเดิม
นอกจากนี้พระภิกษุบางส่วนยังเคยนับถือศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเดิมของตนอีกด้วย โดยปกติแล้วเดิมทีคนนับถือศาสนาพราหมณ์จะเรียกวันดังกล่าวว่า วันศิวาราตรี ผู้คนจะรวมตัวกันเพื่อสักการบูชาพระศิวะพร้อมทั้งล้างบาปด้วยน้ำ เมื่อหันมานับถือศาสนาพุทธจึงได้เลิกพิธีกรรมเดิมแต่เปลี่ยนมาเป็นเข้าเฝ้าบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อฟังพระธรรมนั่นเอง
โอวาทปาติโมกข์ คำสอนที่พระพุทธเจ้าบอกแก่พระภิกษุ 1,250 รูป
ด้วยเหตุนี้ การมารวมตัวกันของพระภิกษุ 1,250 รูปในวันมาฆบูชาที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย จึงไม่นับว่าเป็นเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ เพราะศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาดั้งเดิมที่อยู่คู่กับชาวอินเดียมาแต่ไหนแต่ไร และพระพุทธเจ้าเองก็ได้แสดงหลักธรรมคำสอนให้กับเหล่าสาวกที่มาประชุมกันในวันดังกล่าวนั่นก็คือ โอวาทปาติโมกข์ นั่นเอง
มันเป็นหลักคำสอนซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ โดยกล่าวถึง การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำบุญกุศล การชำระจิตใจของตัวเองให้ขาวสะอาด ขันติคือความอดกลั้นซึ่งเป็นเครื่องเผากิเลส ผู้รู้กล่าวพระนิพพานเป็นความอันยิ่ง การกำจัดสัตว์ไม่ขึ้นชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ทำสัตว์อื่นลำบากไม่ขึ้นชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่พูดร้ายและไม่ทำร้าย การสำรวมตนในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณอยู่ในการบริโภค การนอนการนั่งในที่เงียบสงัด การหมั่นทำจิตให้ยิ่ง
หลังจากที่วันดังกล่าวกลายมาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เหล่าพุทธศาสนิกชนที่มารวมตัวกันในวันมาฆบูชาเพื่อไหว้พระทำบุญก็จะมาฟังธรรมโอวาทปาติโมกข์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเราจะได้รับหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้
หลักการ 3 ประกอบไปด้วย
1.การไม่ทำบาป
ไม่ว่าจะเป็นการลดละเลิก การงดเว้นการทำบาป ประกอบไปด้วยอกุศลกรรมบถ 10 ประการ ประกอบไปด้วย
อกุศลกรรมบถ 10 ประการ ทางกาย
-การฆ่าสัตว์
-ลักทรัพย์
-ประพฤติผิดในกาม
อกุศลกรรมบถ 10 ประการ ทางวาจา
-พูดจาโกหก
-พูดจาส่อเสียด
-พูดหยาบ
-พูดเพ้อเจ้อ
อกุศลกรรมบถ 10 ประการ ทางใจ
-โลภอยากได้สมบัติคนอื่น
-การพยาบาทอาฆาตแค้น
-การทำผิดจากครรลองคลองธรรม
2.การทำบุญกุศล
เป็นการทำคุณงามความดี เรียกว่ากุศลกรรมบถ 10 ประการ ประกอบไปด้วย
กุศลกรรมบถ 10 ทางกายกรรม
-การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูล
-ไม่เอาสิ่งที่คนอื่นไม่ให้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
-ไม่ประพฤติผิดในกาม
กุศลกรรมบถ 10 ทางวจีกรรม
-ไม่พูดจาโกหก
-ไม่พูดจาส่อเสียด
-ไม่พูดจาหยาบคาย
-ไม่เพ้อเจ้อ
กุศลกรรมบถ 10 ทางมโนกรรม
-ไม่โลภอยากได้แม้ว่าผู้อื่นจะเสียสละ
-ไม่ผูกจิตอาฆาตพยาบาท
-มีความคิดตามครรลองคลองธรรม
3.ทำจิตใจให้ผ่องใส
คือการทำจิตใจของตนเองให้ปราศจากเครื่องขัดขวางจิต ไม่ให้สามารถเข้าถึงความสงบได้ อย่างเช่นความพอใจในกาม ความพยาบาท ความท้อแท้หดหู่ ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความสงสัยลังเลใจ
อุดมการณ์ 4 ประกอบไปด้วย
- ความอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา และใจ
- การไม่เบียดเบียน งดเว้นจากการรบกวนหรือทำร้ายผู้อื่น
- ความสงบ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจา และใจ
- นิพพาน การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในศาสนาพุทธ
วิธีการ 6 ประกอบไปด้วย
- ไม่ว่าร้าย พูดจาโจมตีใคร
- ไม่ทำร้าย เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
- สำรวมในปาติโมกข์ เป็นการเคารพกฎระเบียบ วินัย กติกามารยาท ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎหมาย
- รู้จักประมาณ พอดีในการใช้สอยหรือการบริโภคสิ่งต่าง ๆ
- อยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบ มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม
- ฝึกใจให้สงบ หากชำระล้างจิตใจให้สงบ ให้สุขภาพมีประสิทธิภาพและคุณภาพ
กิจกรรมที่ถือปฏิบัติในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา มีกิจกรรมทางศาสนาให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธปฏิบัติมากมาย รุ่งเช้าผู้คนก็จะตื่นขึ้นมาตักบาตร บ้างก็จัดอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม ตอนบ่ายก็จะนั่งฟังพระภิกษุแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อตกกลางคืนก็จะนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปวัด เพื่อทำพิธีเวียนเทียนเดินวนขวารอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จากนั้นก็นำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในวันมาฆบูชา
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com