เหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้สิ่งปลูกสร้างหลายอย่างในกรุงศรีอยุธยาถูกเผาทำลายจนเหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง อย่างวัดเชิงท่า วัดเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นวัดวาอารามที่มาพร้อมกับความยิ่งใหญ่สวยงาม แต่ในปัจจุบันวัดส่วนเดิมนั้นเหลือเพียงแค่เศษซากอย่างน่าเสียดาย ถึงอย่างนั้นมันกลับยังคงสามารถแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีที่เปรียบเสมือนกับเมืองเทพเมืองสวรรค์เมื่อ 400 กว่าปีที่แล้วได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับวัดเชิงท่า วัดที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง
วัดเชิงท่า หรือในอีกหลายชื่อเรียกอย่าง วัดคลัง, วัดติณ, วัดโกษาวาสน์, วัดตีนท่า, วัดคอยท่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นวัดสำคัญที่มีประวัติศาสตร์คู่กับเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์กันว่าวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แต่ไม่มีปรากฏในหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดว่าใครที่เป็นผู้สร้างขึ้นมา
ส่วนที่มาของชื่อวัดเชิงท่านั้น เกิดจากการที่วัดเป็นท่าข้ามเรือของทางฝั่งเกาะเมือง ส่วนที่มาของชื่ออื่น ๆ อย่าง วัดติณ เกิดจากการที่ครั้งหนึ่ง วัดเคยถูกใช้เป็นสถานที่รวบรวมหญ้าเอาไว้ให้ช้างและม้าในวังได้กิน ในสมัยของพระเพทราชามาจนถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเลยทีเดียว
เข้าสู่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า พระยาโกษาธิบดีปานผู้เป็นราชทูต เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยหลังจากไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสแล้ว ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะให้วัดเชิงท่าให้กลับมาสวยงาม สมกับเป็นแหล่งรวมใจของเหล่าผู้คนที่นับถือพุทธศาสนา และเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น วัดเชิงท่ายังมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินและรัชกาลที่ 1 แห่งกรุ่งรัตนโกสินทร์อีกด้วย เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากสินและรัชกาลที่ 1 ทรงออกผนวชเมื่อครั้งยังเยาว์วัย ทั้งคู่ได้มาเจอกันที่วัดแห่งนี้ โดยพระยาจักรีผู้เป็นพ่อบุญธรรม ได้นำตัวเด็กชายสินเข้ามาบวชเรียนกับพระอาจารย์มหาเถร
ส่วนทองดีก็ได้มาบวชศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกและหนังสือขอมไทย เมื่อทั้งคู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กก็ได้พบกันอีกครั้ง ต่อมาพออายุครบ 21 ปี นายทองด้วงได้อุปสมบทที่วัดไม่ไกลจากกันอย่างวัดมหาทลาย ส่วนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเชิงท่า
ในวันหนึ่งที่พระภิกษุ 2 รูปเดินบิณฑบาตมาเจอกันพอดี ซินแสจากจีนก็ได้กล่าวขึ้นมาว่า น่าเหลือเชื่อที่กษัตริย์ไทย 2 พระองค์มาเดิมบิณฑบาตร่วมกัน เพราะต่อไปภายภาคหน้าพระคุณเจ้าจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่พระภิกษุกลับรู้สึกขำและไม่ได้ใส่ใจ ใครจะล่วงรู้ว่าในอนาคตทั้งสองพระองค์จะกลายมาเป็นกษัตริย์ของประเทศไทยจริง ๆ
เปิดตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับวัดเชิงท่า
วัดเชิงท่า เป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญเพราะเคยมีกษัตริย์มาออกผนวชที่นี่ ทั้งยังเป็นสถานที่เล่าเรียนศึกษาวิชาของทั้งรัชกาลที่ 1 และพระเจ้าตากสินด้วย แต่ความเป็นมาตามตำนานการสร้างวัดนั้นว่ากันว่า
มีเศรษฐีท่านหนึ่งได้สร้างเรือนหอให้กับลูกสาวของตนเอง ที่หนีตามคนรักไปและไม่เคยคิดจะย้อนกลับมาหาบิดาเลยแม้แต่น้อย
ด้วยเหตุนี้ เศรษฐีผู้โศกเศร้าที่เสียลูกสาวไปจึงได้นำเอาเรือนหอไปถวายกับวัดที่ตนเองสร้างขึ้นมา โดยตั้งชื่อวัดว่า วัดคอยท่า เป็นที่มาของนิราศทวารวดีที่หลวงจักรปาณีเป็นผู้ประพันธ์
รวมจุดสำคัญในวัดเชิงท่าที่คุณไม่ควรพลาด
วัดเชิงท่าในปัจจุบันได้กลายเป็นโบราณสถานที่เต็มไปด้วย นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากมาย ที่เดินทางหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชม สำหรับใครที่มีโอกาสได้เดินทางมาถึงที่นี่แล้ว จะมีส่วนไหนที่คุณไม่ควรพลาดบ้าง ไปดูกันเลย
- วิหาร เป็นส่วนเชื่อมต่อทางทิศใต้ของมุขปรางค์ หน้าพระวิหารหันไปทางทิศใต้ตรงกับแม่น้ำลพบุรี ภายในยังคงความดั้งเดิมเอาไว้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน หน้าต่างเป็นบานมู่ลี่ไม้ที่หนาเป็นพิเศษ ซึ่งมีเพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ถูกวาดลวดลายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย
- ปรางค์ประทาน เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของวัดเชิงท่าก็ว่าได้ ถูกสร้างขึ้นมาตามหลักสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฐานสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่ด้านบนของฐานไพที ยอดนพศูลถูกทำมาจากสัมฤทธิ์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับฝักเพกา
- เจดีย์ราย ตั้งอยู่ด้านหน้าโบสถ์และวิหาร มีการสร้างขึ้นมาหลากหลายรูปทรงตามความเชื่อในอดีต ทั้งทรงเหลี่ยม ทรงกลม ทรงระฆัง และทรงเครื่อง แต่ละองค์นั้นมีความน่าสนใจ ถูกประดับประดาด้วยปูนปั้นเป็นลวดลายแปลกตา แม้ตอนนี้จะเหลือเพียงแค่ซากอิฐเท่านั้น
- ศาลาการเปรียญ ศาลาดังกล่าวอาจไม่ได้เก่าแก่ถึงขั้นที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมันเป็นอาคารใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปแบบงานสถาปัตยกรรมจะมีความคล้ายคลึงกับศาลาในวัดกุฎีดาว ทั้งพื้นและหลังคาถูกสร้างขึ้นมาจากไม้ หน้าบันมีการแกะสลักด้วยลายกนกและลายเทพนม ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสีแบบไทยด้วยฝีมือของครูแข
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com