เที่ยวเสาชิงช้า แวะไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ แก้ปีชง สะเดาะเคราะห์

by saimu
0 comment
ศาลเจ้าพ่อเสือ

ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานี้จะเลยช่วงต้นปีมาสักพักแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่ายังคงมีคงเกิดปีชงหลายคนที่ยังไม่ได้ไปแก้ชงกันอย่างแน่นอน สายมู.com เลยจะมาแนะนำศาลเจ้าพ่อเสือให้ได้รู้จักกัน อีกหนึ่งสถานที่ที่ผู้คนนิยมเข้าไปแก้ดวงปีชง ซึ่งศาลดังกล่าวตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครย่านเสาชิงช้า สถานที่แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานและถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ใครพร้อมแล้วที่จะไปแก้ดวง ตามเราไปทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้กันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับศาลเจ้าพ่อเสือ ที่พึ่งของคนเกิดปีชง

ศาลเจ้าพ่อเสือ

เชื่อว่าใครที่มีโอกาสได้เดินทางไปแถวเสาชิงช้า คงจะได้เห็นศาลเจ้าพ่อเสือหรือที่ชาวจีนเรียกในชื่อศาลตั่วเหล่าเอี้ย กันมาบ้าง ศาลแห่งนี้เป็นศาลเจ้าลัทธิเต๋าที่มีความเก่าแก่และได้รับการนับถือมาอย่างยาวนาน มีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่าเป็นสถานที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ใครที่เจอปัญหาเศรษฐกิจ ทำธุรกิจแล้วเหมือนจะเจ๊ง อยากขอพรเรื่องการทำงานให้ประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรือง มีอำนาจบารมี มีเงินทองร่ำรวย มีกินใช้ไม่ขาดมือ ก็ต้องเดินทางมาไหว้ขอพรที่นี่

นอกจากนี้ศาลเจ้าพ่อเสือยังเป็นสถานที่แก้ชงยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ใครที่ตอนนี้อยู่ในช่วงปีชง สามารถเข้าไปที่ศาลเจ้าเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าโชคร้ายกันได้ นอกจากจะช่วยให้ดวงดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตได้อีกด้วย

เปิดวิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือแก้ชง

ศาลเจ้าพ่อเสือ

สำหรับใครที่เกิดในปีชงพอดีและอยากจะไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อแก้ดวง สิ่งที่ต้องใช้ในการไหว้ประกอบไปด้วย

  • ธูปจำนวน 18 ดอก 
  • เทียนแดงจำนวน 1 คู่ 
  • กระดาษไหว้ 
  • พวงมาลัย 
  • น้ำมันตะเกียง 
  • ชุดปัดตัวสะเดาะเคราะห์ 
  • อาหาร ประกอบไปด้วยผลไม้ ไข่ หมูสามชั้น และข้าวเหนียวแดงหวาน

จากนั้นให้นำเอาของไหว้ไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ประกอบไปด้วย เทพยดาฟ้าดิน องค์ประธาน เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู ไฉ่ซิงเอี๊ยกง เทพเจ้าเห้งเจีย เสด็จพ่อปิยมหาราช องครักษ์เจ้าพ่อข้างประตูซ้ายและขวา หลังจากวางของไหว้เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำพิธีปัดตัวเพื่อสะเดาะเคราะห์ 

เดินไปหน้าเทพเจ้ากวนอูจะมีเจ้าหน้าที่บอกวิธีการและคำกล่าวให้เราพูดตาม เมื่อปัดตัวเสร็จแล้วก็นำเอากระดาษไปเผาในเตา จากนั้นไหว้โดยเรียงลำดับจากเทพยดาฟ้าดิน เจ้าพ่อใหญ่ เจ้าพ่อเสือ เทพโชคลาภ องครักษ์เจ้าพ่อขวาและซ้ายตามลำดับ 

เปิดประวัติศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

ศาลเจ้าพ่อเสือ

ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นศาลเจ้าจีนโบราณที่ถูกก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระองค์เจ้าอรรณพ หรือกรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระราชโอรสของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมทีศาลแห่งนี้เคยตั้งอยู่บริเวณถนนบำรุงเมือง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง จึงมีการย้ายศาลเจ้ามาไว้บริเวณทางสามแพร่งของถนนตะนาว หรือที่ตั้งในปัจจุบันใกล้กับเสาชิงช้านั่นเอง

อาคารของศาลเจ้าถูกสร้างขึ้นมาตามลักษณะของศาลเจ้าในภาคใต้ของประเทศจีน เทพเจ้าประจำศาลเจ้าพ่อเสือคือ เจ้าพ่อเสือ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และได้รับความเคารพนับถือในกลุ่มชาวจีนเป็นอย่างมาก และยังมีการประดิษฐานเทพอีกหลายองค์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น

เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อกวนอู ไฉ่ซิงเอี๊ย เทพเจ้าเห้งเจีย และยังมีเสด็จพ่อปิยมหาราชอีกด้วย มันจึงเป็นศาลเจ้าที่ทั้งชาวไทยและชาวจีนสามารถเข้าไปกราบไหว้ได้ 

ในช่วงที่มีการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้นมา ได้มีการนำเอากระดูกเสือมาบรรจุไว้ตามจุดต่าง ๆ จากนั้นก็ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณเสือให้มาปกปักรักษาผู้คนให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ต่อมาในภายหลังจึงเริ่มมีชื่อเสียงด้านการขอพรที่เกี่ยวกับการทำงานและการทำธุรกิจ จนผู้คนเดินทางไปกราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย

เรื่องราวตำนานศาลเจ้าพ่อเสือ เทพเจ้าแห่งการปกป้อง

ศาลเจ้าพ่อเสือ

ในปัจจุบันหลายคน อาจเดินทางไปกราบไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อเสริมดวง โดยที่ไม่รู้ว่าเจ้าพ่อคือใคร ตามตำนานจีนกล่าวว่า เทพเจ้าเสือนั้นถือเป็นเทพแห่งการปกป้อง ทำหน้าที่ในการขับไล่วิญญาณ โดยศาลแห่งนี้มีเรื่องเล่าว่า 

ในสมัยก่อนเดิมทีพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าที่มีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ไม่ไกลจากศาลเจ้า ประกอบไปด้วยยายผ่องและนายสอน 2 แม่ลูกที่ยากจน ทุกวันนายสอนต้องเข้าป่าไปเก็บของมาขายบ้าง กินเองบ้าง 

วันหนึ่งนายสอนก็ได้พบเข้ากับซากกวาง จึงมีความต้องการที่จะนำเอาเนื้อไปทำอาหารให้แม่ เขาได้ตัดชิ้นส่วนเนื้อกวางสำหรับพอกิน 2 คน โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าในตอนนั้นเสือกำลังดักซุ่มอยู่ เขาถูกเสือขย้ำจนทำให้แขนขาด นายสอนพยายามเอาชีวิตรอดกลับมาที่บ้านได้สำเร็จ จากนั้นก็เล่าเรื่องให้ผู้เป็นแม่ฟังและเสียชีวิตไป 

ยายผ่องที่เสียใจจากการสูญเสียลูกชายจึงไปขอให้นายอำเภอไปจับตัวเสือมาลงโทษ ทั้งนายอำเภอและปลัดต่างก็พากันออกตามหาเสือแต่ก็ไม่พบตัว จนกระทั่งพวกเขามาพึ่งบารมีหลวงพ่อพระร่วงและหลวงพ่อบุญฤทธิ์ในวัดมหรรณพาราม พวกเขาจึงได้พบกับเสือที่ยอมให้จับแต่โดยดี 

หลังจากถูกจับมานายอำเภอก็พิพากษาประหารชีวิตเสือ เจ้าเสือยอมรับและหมอบราบอย่างนิ่งเฉย แต่ในขณะเดียวกันก็มีน้ำตาซึม ยายผ่องเห็นแล้วก็ใจอ่อน เกิดความสงสาร จึงร้องขอชีวิตเสือและนำมาเลี้ยงจนเปลี่ยนจากสัตว์ป่าที่ดุร้ายกลายเป็นสัตว์ที่เชื่อง

หลังจากยายผ่องเสียชีวิต เสือก็เศร้าเสียใจจนตรอมใจและกระโดดเข้าไปในกองไฟด้วยความสำนึกบุญคุณ ทำให้ชาวบ้านสลดใจเป็นอย่างมากและสร้างศาลขึ้นมาใกล้กับวัดมหรรณพาราม สร้างรูปปั้นเสือและนำเอาเถ้ากระดูกของเสือบรรจุไว้ภายในจนกลายมาเป็นศาลเจ้าพ่อเสือจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment