วัดชนะสงคราม วัดที่ถูกบูรณะใหม่ให้คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา 

by saimu
0 comment
วัดชนะสงคราม

นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ วัดเก่าแก่โบราณหลายวัดที่ถูกสร้างขึ้นก่อนการเกิดขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ และวัดชนะสงครามก็เป็นหนึ่งในวัดที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ จากวัดที่มีความทรุดโทรมกลายเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร วัดชนะสงครามแห่งนี้แท้จริงแล้วมีความสำคัญกับประเทศไทยของเราอย่างไรและมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้กัน ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

เปิดประวัติความเป็นมาของวัดชนะสงคราม วัดโบราณที่ถูกบูรณะให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

วัดชนะสงคราม

วัดชนะสงคราม มีชื่อเต็มว่า วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เดิมทีวัดสำคัญแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างที่หลายคนเข้าใจ ถือเป็นวัดโบราณที่เก่าแก่เป็นอย่างมากจนไม่ปรากฏหลักฐานในการก่อสร้างให้คนยุคหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 

ในอดีตวัดชนะสงครามแห่งนี้ถูกเรียกว่า วัดกลางนา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมบรมกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้มีพระราชประสงค์ในการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาให้มากที่สุด 

ดังนั้นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังจึงได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ และยังมีการเปลี่ยนชื่อวัดอย่างเหมาะสมอีกด้วย 

ด้วยเหตุนี้ วัดกลางนา จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น วัดตองปุ และโปรดให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญจำวัดอยู่ในวัดดังกล่าวเช่นเดียวกับวัดตองปุในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เหล่าทหารรามัญ ผู้สู้รบในกองทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กองทัพสำคัญที่ช่วยกันต่อสู้กับพม่าในสงคราม 9 ทัพ สงครามที่ท่าดินแดนและสามสบ รวมถึงสงครามที่นครลำปางป่าซางด้วย 

สมเด็จพระบวรราชมหาสุรสิงหนาทได้ทำหน้าที่บูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุ จากนั้นจะได้ถวายให้กลายเป็นพระอารามหลวง ก่อนมีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่เป็น วัดไชยชนะสงคราม ซึ่งภายหลังได้ตัดให้เหลือเพียง วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะต่อการทำสงครามกับพม่าถึง 3 ครั้ง 

วัดชนะสงคราม

หากจะกล่าวว่า วัดชนะสงครามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็คงจะไม่ผิดและไม่ถูกทั้งหมดเสียทีเดียว เนื่องจากเดิมทีเป็นวัดธรรมดาทั่วไปที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาเฟื่องฟู ก่อนที่จะถูกปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์และถูกยกขึ้นมาให้เป็นอารามหลวง 

หลังจากนั้นวัดชนะสงครามก็ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิของเหล่าเจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล บริเวณเฉลียงอุโบสถตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

แตกว่าการดำเนินการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์จะแล้วเสร็จก็เข้าสู่สมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกันเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็อัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคล ไปประดิษฐานในวัดชนะสงคราม นับตั้งแต่ปี 2470 เป็นต้นมา

รวมสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรพลาด หากได้เดินทางไปยังวัดชนะสงคราม

วัดชนะสงครามจัดเป็นสถานที่สำคัญในประเทศไทย เนื่องจากในวัดดังกล่าวได้รวบรวมข้าวของสำคัญเอาไว้มากมาย ทั้งของที่เป็นวัตถุและสิ่งก่อสร้างถาวร ทุกอย่างยังคงถูกเก็บรักษาในวัดชนะสงครามเป็นอย่างดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สืบไป สำหรับใครที่อยากเดินทางไปท่องเที่ยวเยี่ยมชมความสวยงามของพุทธสถานแห่งนี้ จะมีอะไรที่เราไม่ควรพลาดบ้าง ไปดูกันเลย 

สิ่งก่อสร้างถาวร 

วัดชนะสงคราม

1.พระอุโบสถ 

เป็นโบราณสถานในวัดชนะสงครามที่ก่อสร้างขึ้นมาด้วยวิธีการก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 13 ห้องเสา ฐานเป็นแบบบัวลูกแก้ว ไม่มีพาไล หลังคาสามชั้นแบบลดหลั่นกันลงมา มุงด้วยหลังคากระเบื้องเคลือบสี ถูกประดับครบทั้งหางหงส์ ใบระกา และช่อฟ้า 

หน้าบันถูกเจาะออกเป็นช่องหน้าต่าง บานหน้าต่างแต่ละบานถูกแกะสลักเป็นลวดลายเทพนม บริเวณเหนือบานหน้าต่างขึ้นไปถูกแกะเป็นลวดลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนลวดลายบริเวณพื้นหน้าบานหน้าต่างจะแตกต่างกันออกไป ด้านหน้าเป็นลวดลายของเทพนม ด้านหลังเป็นลวดลายก้านแย่งใบเทศ ประดับประดาด้วยกระจกปิดทอง 

ซุ้มประตูและหน้าต่างถูกทำซ้อนกันขึ้นไป 2 ชั้น ลวดลายขนปูนปั้น ส่วนด้านในเป็นภาพเขียนทวารบาล บานประตูด้านหน้าถูกแกะสลักเป็นไม้ปิดทองลวดลายก้านแย่ง บานหน้าต่างบริเวณด้านนอกถูกลงรักสีดำแบบไม่มีลวดลาย บริเวณด้านหลังพระอุโบสถถัดจากพระประธานสร้างเฉลียงกั้นห้องไว้เพื่อใช้บรรจุอัฐิของเจ้านายในฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ถูกเจาะออกเป็นช่องและมีคันทวยสำหรับรองรับชายคา

โดยรอบพระอุโบสถถูกตกแต่งด้วยลวดลายเถาวัลย์ที่พันธุ์คล้องกับคันทวย มีใบเสมาบริเวณผนังมุมด้านนอกทั้งหมด 4 มุม รวมถึงผนังด้านใน และยังมีแท่นใบเสมาอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ด้านหลังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

2.ศาลาราย 

ที่เราเห็นกันในวัดชนะสงครามปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เพราะวัดต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพของวัดให้กลายเป็นสำนักเรียนสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นจึงมีการกั้นเป็นห้อง ๆ โดยเปลี่ยนให้เหมาะสำหรับการใช้เป็นห้องเรียน 

สภาพตามเดิมคาดว่ามีทางขึ้นศาลาหลังละ 2 ข้างด้วยกัน ด้านหนึ่งจะมีการก่อปิดทึบและเชื่อมต่อกับกำแพงโดยรอบ หลังคาลดระดับ 1 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ด้านที่ถูกก่อขึ้นมาเป็นผนังจะมีการเจาะช่องหน้าต่างเอาไว้ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะเปิดโล่ง

วัดชนะสงคราม

3.พระเจดีย์ 

เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของเขตพุทธาวาสทั้ง 2 ข้าง ลักษณะจะเป็นเจดีย์เหลี่ยมแบบย่อมุมไม้ 20 ทรงจอมแห ถูกก่อสร้างขึ้นมาด้วยอิฐและปูนขนาดใหญ่ และยังมีพระเจดีย์กลม 2 องค์อยู่บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ ลักษณะจะมีฐานสูงและมีทางขึ้นเพียงทางเดียว บนฐานของเจดีย์สามารถเดินโดยรอบเจดีย์ได้ทั้ง 2 องค์

ปูชนียวัตถุ 

วัดชนะสงคราม

1.พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ 

เป็นพระพุทธรูปในอุโบสถที่ถูกยกให้เป็นพระประธาน ถูกสร้างขึ้นมาด้วยปูนปั้นก่อนบุด้วยดีบุกปางมารวิชัย จากนั้นลงรักปิดทองให้เรียบร้อยสวยงาม มีความกว้างหน้าตัก 2.5 เมตร และความสูงถึง 3.5 เมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานที่มีความสูงถึง 1.3 เมตร ฝั่งซ้ายขวามีรูปปั้นพระอัครสาวกพนมมือเป็นพระปูนปั้น 2 องค์ ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดชนะสงครามเลยทีเดียว 

วัดชนะสงคราม

2.พระพุทธรูปปางมารวิชัย 

เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นเหมือนกับพระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 25 องค์ ถูกวางประดิษฐานรายล้อมฐานชุกชี 

วัดชนะสงคราม

3.พระเจดีย์ทรงจอมแห 

มีทั้งหมด 2 องค์ด้วยกัน ตั้งอยู่บริเวณหน้าพระอุโบสถ และมีเจดีย์ทรงกลมอีก 2 องค์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ถึงเป็นเพียงเจดีย์ แต่ก็เป็นของโบราณที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปรับชมในวัดชนะสงครามไม่น้อยเลยทีเดียว 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment