ปราสาทผึ้ง งานประเพณีทำบุญต้อนรับวันออกพรรษา 

by saimu
0 comment

ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยก็จะมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป อย่างในสกลนครจะมีงานใหญ่อย่าง ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง งานประเพณีที่เป็นส่วนหนึ่งของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นการทำบุญเพื่อต้อนรับวันออกพรรษา หลังจากที่พระภิกษุต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันถึง 3 เดือน และยังถือว่าเป็นงานประเพณีใหญ่ระดับชาติ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสกลนครเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นได้ที่อย่างมากมายมหาศาล ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งจะมีความเป็นมาอย่างไรและเกี่ยวข้องกับความเชื่ออะไรบ้าง วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกัน ไปติดตามกันได้เลย 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

เปิดประวัติความเป็นมาของประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง 

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง งานประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ถูกจัดขึ้นในจังหวัดสกลนครเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองทำบุญเนื่องในโอกาสวันออกพรรษา หน่วยงานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ อำเภอ หรือคุ้ม ต่างส่งปราสาทเข้ามาร่วมกันแห่ 

มีกิจกรรมประกวดการจัดทำปราสาทว่าของใครงดงามมากที่สุด มีการประกวดเทพีเพื่อหาสาวงามประจำงานประเพณี และยังมีมหรสพสมโภชเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานครึกครื้น หลังจากนั้นก็จะนำเอาปราสาทผึ้งไปถวายให้กับวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตเทศบาลของจังหวัดสกลนคร 

โดยผู้คนเชื่อกันว่าการถวายต้นผึ้งเพื่อทำบุญนับเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ในวันออกพรรษาชาวบ้านจึงได้นำเอาขี้ผึ้งไปรวมตัวกันถวายวัด เพื่อให้พระได้นำเอาไปทำเป็นเทียนน้ำมนต์ รวมไปถึงเทียนทั่วไปที่ใช้จุดเพื่อให้แสงสว่างในตอนกลางคืน 

แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นการทำกิจกรรมแบบง่าย ๆ ด้วยการนำเอาต้นกล้วยมาประดิดประดอยเป็นหอทรงสี่เหลี่ยมทับซ้อนกัน จากนั้นก็นำเอาขี้ผึ้งมาทำในลักษณะดอกผึ้ง แล้วนำเอาไปเสียบโดยรอบหอ จากนั้นก็นำเอาไปถวายวัด 

ต่อมาก็มีการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามและยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม จากหอธรรมดาก็กลายเป็นปราสาทราชวัง ที่ถูกประดับประดาอย่างสวยงามอลังการ กลายเป็นที่มาของชื่อประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันออกพรรษานั่นเอง 

ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง 

ก่อนจะเป็นประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเหมือนในทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในสมัยก่อนชาวอีสานเชื่อว่า การถวายต้นผึ้งจะช่วยให้ได้รับบุญกุศลที่สูงส่ง เวลาที่มีการทำทานให้กับผู้วายชนม์ในงานแจกข้าวหรืองานทำบุญให้กับผู้วายชนม์ หลังจากที่ถวายภัตตาหารให้กับพระภิกษุสงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการถวายหอผึ้งเพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์เป็นลำดับต่อไป 

เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายมาเป็นปราสาทผึ้งที่มีขนาดใหญ่และสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการถวายในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก่อนจะโปรดเวนัยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ สิ่งที่พุทธศาสนิกชนเชื่อเกี่ยวกับวันออกพรรษา และทำให้กลายมาเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงนี้นั้น มีอยู่หลายความเชื่อด้วยกันไม่ว่าจะเป็น 

  1. เชื่อว่าวันออกพรรษาเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เปิดโลกทั้งสาม เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างสามารถมองเห็นความเป็นอยู่ของกันและกันได้ ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์ท่าน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงมีโอกาสได้มองเห็นหอผึ้งที่ตนเองเคยทำถวายเอาไว้จนเกิดความศรัทธา ก่อนจะพัฒนากลายเป็นปราสาทผึ้งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเหมือนกับในปัจจุบัน 
  2. วัดพระธาตุเชิงชุมนับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธเจ้าเคยมาประชุมรอยพระพุทธบาทเป็นจำนวนถึง 4 พระองค์เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างพระธาตุขึ้นมาครอบบริเวณโดยรอบพระพุทธบาทเอาไว้ ดังนั้นการนำเอาหอผึ้งมาถวายก็นับว่าเป็นการบูชารอยพุทธบาทที่ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง 
  3. ประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีใหญ่ที่ญาติพี่น้อง จะมีโอกาสได้มาพบปะสังสรรค์กัน หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตคนละทิศละทาง นอกจากจะได้ทำบุญร่วมกันแล้ว ยังได้ร่วมงานแข่งเรืออย่างสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีทั้งในครอบครัวและในระดับชุมชน 

วิวัฒนาการของประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง 

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในจังหวัดสกลนครนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ผู้คนต่างปฏิบัติยึดถือกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่ที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย โดยสามารถแบ่งรูปแบบการวิวัฒนาการของประเพณีดังกล่าวออกได้เป็นทั้งหมด 3 ช่วงเวลา ประกอบไปด้วย 

  1. ระยะแรก แรกเริ่มเดิมทีผู้คนจะใช้ต้นกล้วยตัดให้มีความยาวระดับหนึ่ง จากนั้นทำขาหยั่งเพื่อยึดต้นกล้วยเข้าไว้ด้วยกัน แล้วนำเอาขี้ผึ้งหลอมเหลวมาใส่ลงไปในแม่พิมพ์จนออกมาเป็นดอกผึ้ง จากนั้นก็นำเอาดอกผึ้งมาติดเอาไว้บนต้นกล้วยที่เราก่อเป็นหอเอาไว้ ก็จะได้ออกมาเป็นหอผึ้ง 
  2. ยุคปราสาทผึ้งทรงหอหรือทรงสิม จากเดิมที่ใช้ต้นกล้วยก็เปลี่ยนมาเป็นใช้ไม้เนื้ออ่อน นำเอามาทำให้เป็นเสา 4 ต้น จากนั้นนำเอากระดาษสีเครื่องบนมาพันเป็นหลักคล้ายกับหมาก แต่งหน้าจั่วด้วยการใช้หยวกกล้วยประดับประดาด้วยดอกผึ้ง ความสูงจะลดหลั่นกันลงมา แล้วประดับประดาให้สวยงามด้วยใบระกา ป้านลม ช่อฟ้า และดอกผึ้ง 
  3. ยุคปราสาทเรือนยอด เป็นการพัฒนาการออกแบบให้ดูสวยงามและวิจิตรพิสดารมากขึ้นกว่าเดิม ยังคงใช้ไม้ในการทำโครงให้กลายเป็นปราสาทขนาดใหญ่ มีกุฎาคารซึ่งเป็นเรือนยอดเรียวบนปราสาทจตุรมุข อาคารทั้ง 4 ด้านจะถูกต่อมุกยื่นออกมาในขนาดที่เท่ากัน จากนั้นนำเอาขี้ผึ้งมาตกแต่งให้ดูสวยงาม ใช้นาคสะดุ้ง หน้าบัน กำแพงแก้ว ใบระกาและช่อฟ้า มาประดับประดาอีกรอบให้ดูอลังการ ลักษณะที่ออกมานั้นจะมีความคล้ายคลึงกับที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เป็นการสร้างปราสาทที่วิจิตรเพื่อถวายแก่พระพุทธเจ้า 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment