ลอยกระทง ประเพณีไทยที่เป็นมากกว่าแค่การขอขมาพระแม่คงคา

by saimu
0 comment
ลอยกระทง

เผลอแป๊บเดียวเราก็เข้าสู่ช่วงปลายปีกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหนึ่งในประเพณีที่หลายคนรอคอยก็คือ ประเพณีลอยกระทง ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา เนื่องจากในอดีตชาวไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำ ทำทุกอย่างในแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า การอาบน้ำชำระล้างร่างกาย บ้างก็ทิ้งสิ่งปฏิกูลไว้ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 จึงมีการจัดพิธีเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา แต่ในภายหลังประเพณีลอยกระทงเริ่มมีความเชื่อหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ความเชื่อเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

รวมความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงในประเทศไทย

ลอยกระทง

1.กระทงคว่ำจะเกิดหายนะ 

ในงานประเพณีลอยกระทงทุกคนก็ย่อมอยากลอยกระทง เพื่อมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมที่สวยงามของประเทศไทย แต่ปัญหาก็คือเมื่อเราปล่อยกระทงลงน้ำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วและมันเกิดคว่ำจมหายไปต่อหน้าต่อตา มีความเชื่อว่าเป็นลางร้ายที่บอกได้ว่าในอนาคตอาจเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น บ้างก็ว่าในช่วงเวลานั้นจะหยิบจับทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้พบเจอกับสิ่งดี ๆ ที่ต้องการเลยทีเดียว 

2.ใส่เหรียญในกระทง 

เวลาที่เราจะนำเอากระทงไปลอยในแม่น้ำ หลายคนก็มักจะหาเศษเหรียญเอาไปใส่ไว้ในกระทงด้วย เพราะนอกจากการที่เรานำเอากระทงไปลอยในแม่น้ำเพื่อขอขมากับพระแม่คงคาแล้ว ยังมีความเชื่อที่ว่า หากเรานำเอาเหรียญใส่เข้าไปในกระทง จะช่วยให้ในปีนั้นมีความร่ำรวยและเงินทองไหลมาเทมาไปตลอดทั้งปี

ลอยกระทง

3.ตัดเล็บและผมใส่ลงไปในกระทง 

เป็นความเชื่อที่ติดไสยศาสตร์เล็กน้อย เนื่องจากเชื่อกันว่าหากเรานำเอาเล็บและเศษผมใส่ลงไปในกระทง แล้วนำกระทงนั้นไปลอยในแม่น้ำ ก็เหมือนกับการที่เราได้สะเดาะเคราะห์ เอาเคราะห์ร้ายและสิ่งไม่ดีจากตัวเราลอยออกไปตามสายน้ำ ช่วยให้ชีวิตหลังจากนั้นสว่างสดใสและได้พบเจอกับความสำเร็จ 

4.กระทงแยกกันแล้วต้องเลิกกัน 

หลายคนเชื่อว่า หากไปลอยกระทงกับคนรักจะต้องเลิกกัน ยิ่งใครไปลอยกระทงที่สระน้ำหน้าหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตร สระน้ำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระแก้วที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือสระบัวหน้าคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพา ไม่ต้องรอให้กระทงแยกกันก็มีโอกาสที่จะได้เลิกกันสูง หรือหากคุณไปลอยกระทงที่อื่นด้วยกัน แล้วกระทงดันแยกออกจากกัน ถือว่าเป็นลางร้ายที่ทั้งคู่อาจจะต้องเลิกรากันในอนาคต ในทางกลับกันหากกระทงลอยคู่กันไปเรื่อย ๆ หมายความว่าเป็นคู่แท้ที่จะได้รักกันไปตลอดกาล 

เปิดความแตกต่างของเทศกาลลอยกระทงในภาคเหนือและภาคอีสาน 

ลอยกระทง

เดิมทีประเพณีลอยกระทงนั้นมีตำนานกล่าวว่า นางนพมาศเป็นผู้คิดริเริ่มทำกระทงออกมาเป็นรูปดอกบัว จากนั้นก็นำเอาไปลอยในแม่น้ำเพื่อเป็นการบูชาและขอขมาต่อพระแม่คงคา จากนั้นประเพณีดังกล่าวก็ถูกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนในประเทศไทยของเรานั้นเคยมีบันทึกในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ เป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสุโขทัยเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ประเพณีดังกล่าวในแต่ละพื้นที่ จึงมีวิธีการและความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป และประเพณีลอยกระทงในภาคเหนือและภาคอีสานจะแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาให้ ไปติดตามกันได้เลย 

1.ประเพณียี่เป็ง 

เป็นการลอยกระทงของภาคเหนือที่เกิดขึ้นในเดือน 2 หรือเดือนยี่จนเป็นที่มาของชื่อประเพณี ถูกจัดขึ้นมาเพื่อสักการบูชาพระอุปคุตต์ ในสมัยโบราณชาวเหนือเชื่อกันว่า พระอุปคุตต์ทรงบำเพ็ญเพียรและบริกรรมคาถาอยู่ใต้ท้องทะเลหรือบริเวณสะดือทะเล ดังนั้นการบูชาจึงต้องทำ สะเปา ซึ่งเป็นเรือกระดาษ สามารถลอยบนน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นกระทงประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ลอยไปในน้ำเพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุตต์นั่นเอง 

2.ประเพณีไหลเรือไฟ 

เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ในภาคอีสาน โดยชาวบ้านจะนำเอาวัสดุธรรมชาติมาประดับตกแต่งให้ออกมามีรูปลักษณ์คล้ายกับพญานาค บ้างก็นำเอาวัสดุธรรมชาติมาดัดแปลงให้เป็นรูปอื่น ๆ ที่สวยงามตามความชื่นชอบ หลังจากนั้นก็จะจุดไฟแล้วปล่อยลงไปในแม่น้ำ ทำให้ดูมีความสวยงามอลังการเป็นอย่างมาก 

ประเพณีลอยกระทง จากความเชื่อสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 

ลอยกระทง

ความจริงแล้วประเพณีลอยกระทงนั้นจัดว่าเป็นประเพณีที่มีความสวยงาม และยังเป็นจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย แต่ปัญหาก็คือในยุคหลังมานี้กระทงถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยการใช้วัสดุสังเคราะห์ มากกว่าการใช้วัสดุธรรมชาติเหมือนกับในอดีต

ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมานั่นเอง เนื่องจากวัสดุสังเคราะห์อย่างเช่น โฟมหรือพลาสติก เป็นวัสดุที่ไม่สามารถสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นการสร้างขยะที่จะอยู่คู่กับโลกใบนี้ไปอีกยาวนานหลายปีเลยทีเดียว 

ลองจินตนาการดูว่าหากมีคน 1 ล้านคน นำเอาโฟมและพลาสติกลงไปลอยในน้ำพร้อมกันในคืนเดียว มันคงเป็นหายนะอย่างถึงขีดสุด เพราะสิ่งที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่ความสะอาดของแม่น้ำแต่อย่างใด เพราะมันเป็นทั้งการสร้างขยะโดยใช่เหตุ และยังทำเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายกับสัตว์น้ำอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ในช่วงหลังจึงมีการรณรงค์ให้ร่วมประเพณีลอยกระทงด้วยการไม่นำเอากระทงไปลอยในแม่น้ำ และหันมาใช้วิธีการลอยผ่านโลกอินเตอร์เน็ตแทน บ้างก็มีความพยายามที่จะหาวิธีการลอยอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 

ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระทงที่มีขนาดเล็กและตกแต่งแค่พอประมาณ การใช้กระทงอันเดียวลอยร่วมกันทั้งครอบครัว ไม่ใช้วัสดุสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โฟม ตะปู แม็กซ์เย็บกระดาษ และลวดในการประดับตกแต่งกระทง เลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

และในช่วงหลังมานี้ยังมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้ขนมปังเป็นวัสดุในการทำกระทง เพราะถึงแม้ว่ามันจะเป็นไอเดียที่ดี ได้ร่วมประเพณีแล้วปลายังอาหารกินอีกด้วย แต่หากลอยเป็นจำนวนมากปลาก็ไม่สามารถกินได้จนหมดและทำให้แหล่งน้ำแห่งนั้นเน่าเสียในที่สุดนั่นเอง

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายมู.com

You may also like

Leave a Comment